ปทุมธานี ภาคประชาชนรวมตัวตั้งเครือข่ายทวงสิทธิงบประมาณจัดจำหน่ายสินค้าโอทอป

ปทุมธานี ภาคประชาชนรวมตัวตั้งเครือข่ายทวงสิทธิงบประมาณจัดจำหน่ายสินค้าโอทอป
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 16 มกราคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ภาคประชาชนรวมตัวตั้งเครือข่ายประชาชนผู้ผลิตและค้าขายรายย่อยจังหวัดปทุมธานี จัดเสวนาทวงสิทธิงบประมาณจัดจำหน่ายสินค้าโอทอปจากภาครัฐ
ด้าน ดร.ชัยภัฏ จันทร์วิไล เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร ที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนผู้ผลิตและค้าขายรายย่อยจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า การตั้งกลุ่มเครือข่ายเครือข่ายประชาชนผู้ผลิตและค้าขายรายย่อยจังหวัดปทุมธานีนั้น เนื่องจากผู้ประกอบการชุมชนภายในจังหวัดปทุมธานีมีปัญหาในการประกอบอาชีพ จึงได้รวมกลุ่มกันเพื่อให้เกิดพลังที่สามารถต่อรองกับภาครัฐหรือหน่วยงานราชการ ที่เขานำงบประมาณสนับสนุนตามกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือกันและพัฒนาซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ยังต่อยอดหาความรู้เพิ่มเติมไปเรื่อย ๆ และสร้างความแข็งแรงชุมชนในการที่จะทำให้ชุมชนมีเศรษฐกิจที่ดี ประชาชนพึ่งพาตัวเองได้ พัฒนาสังคมได้จนไปถึงระดับประเทศ เมื่อผู้ประกอบการในจังหวัดปทุมธานีได้ร่วมกลุ่มกันแล้วก็จะเป็นโมเดลให้จังหวัดอื่นเป็นแบบอย่าง
ส่วน นายธนวัฒณ์ ธันยาภัทร์ชัยกุล ประธานเครือข่ายประชาชนผู้ผลิตและค้าขายรายย่อยจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า เราได้จัดตั้งกลุ่มเครือข่ายประชาชนผู้ผลิตและค้าขายรายย่อยจังหวัดปทุมธานี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ขึ้นที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เรารวมตัวกันก็เพื่อต้องการสร้างความเสมอภาคกับกลุ่มผู้พ่อค้าแม่ค้า ให้มีโอกาสค้าขายเท่าเทียมกัน โดยเราจะอาศัยแต่ภาครัฐไม่ได้ อย่างไรก็ตามเราจะทำหนังสือเรียนถามในรายละเอียดต่าง ๆ สิ่งที่เกิดขึ้น การใช้งบประมาณ ให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วม เนื่องจากกลุ่มเราที่ได้จัดตั้งมาไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการที่เสียเปรียบทางการค้า นอกจากนี้ได้ประสานภาคเอกชนให้เข้ามาช่วยเหลือเช่นเดียวกัน เบื้องต้นเราได้สร้างโมเดลทีมงานของเครือข่ายแบบยั่งยืนให้กับประชาชนผู้ค้าในจังหวัดปทุมธานี ในลักษณะทีมงานย้อนยุควิถีไทยโบราณ 3 แผ่นดิน 5 มหาราช ซึ่งการจัดงานของทีมงานออแกไนซ์นั้น สู้พวกเราชาวบ้านจัดได้ไม่ เนื่องจากชาวบ้านเป็นประชาชนในพื้นที่ ที่ได้เรียนรู้ทำเนียบปฏิบัติสืบต่อกันมา มีบุคลากรที่สืบเชื้อสายตามประวัติศาสตร์ มีประชาชนที่มีความรู้พื้นฐานมาจากท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ถือว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และยังสนับสนุนกลุ่มภาคประชาชนที่ประกอบอาชีพทั้งครอบครัว และชุมชนรวมทั้งสังคมวงกว้างในอนาคต
ทางด้าน นายธนยศ ธนาดิลกภัทร์ เลขานุการเครือข่าย OTOP จังหวัดปทุมธานี อดีตประธานเครือข่าย OTOP ปี 60-62 ของจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ตน เป็นประธานเครือข่ายสินค้าโอท๊อป จ.ปทุมธานี มา 2 ปี ก่อนที่จะหมดวาระไป ที่ผ่านมาเคยพยายามที่จะขับเคลื่อนและช่วยเหลือผู้ประกอบการในจังหวัดปทุมธานี จำนวน 1,500 ราย สิ่งที่ได้เจอมาตลอดคือ การถูกเอารัดเอาเปรียบจากหน่วยงานภาครัฐ เมื่อเวลาจัดกิจกรรม โดยการนำงบประมาณของยุทธศาสตร์จังหวัดออกมาไม่ต่ำกว่า 10ล้านบาทต่อปี ในการจัดกิจกรรมทุกครั้งของเรา เครือข่ายโอท็อปและกลุ่มของประชาชน ไม่มีสิทธิ์ที่จะนำเสนอแผนต่าง ๆ เลย เช่น เมื่อปีนี้มีแผนจากงบยุทธศาสตร์มาเพื่อนำพาผู้ประกอบการไปจำหน่วยต่างพื้นที่ต่างห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ซึ่งผู้ประกอบการต่าง ๆ ต้องทราบด้วยว่าท่านจะไปจัดตรงไหน อย่างไร ทางผู้ประกอบการจะได้แสดงความคิดเห็น ที่ผ่านมาเราพูดได้แต่ไม่เอาไม่ทำ และการจัดในแต่ละครั้งถูกจัดไว้ในโซนที่คนไม่มี ขายของไม่ได้ แต่ว่างบประมาณถูกเบิกถูกจ่ายไปแล้ว โดยมีการจ้างทีมงานออแกไนซ์ 1 เจ้า เขาก็จะได้เงินทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะกี่ครั้งก็ตาม ในช่วงเวลาที่เป็นประธานเครือข่ายโอท็อป จ.ปทุมธานี ได้มีโอกาสจัดโครงการตลาดประชารัฐ คนไทยยิ้มได้ เป็นโครงการที่นายกรัฐมนตรี พยาบาลให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในทุกจังหวัดเป็นประธาน ก็ได้จัดงานที่ตลาดไท ตลาดไอยรา ตลาดสดชุมชนบริเวณสะพานแดง ซึ่งตนเป็นผู้ขับเคลื่อนและได้ดำเนินการทั้งหมดเลย โดยไม่ได้อาศัยเงินหรืองบประมาณจากภาครัฐแม้แต่บาทเดียว ซึ่งผู้มีความต้องการให้ผู้ประกอบการทุกท่านได้ประโยชน์ทั้งหมดและเป็นรูปธรรม
ในส่วนของงานภายในจังหวัดปทุมธานีที่จ้างทีมงานออแกไนซ์ ตนรู้สึกว่างบประมาณที่ใช้ไปนั้นไม่คุ้มค่า และไม่ตอบโจทย์ทุกมิติ เช่นลงงบประมาณไปแล้วผู้ประกอบการขายของไม่ได้ แต่เงินจ้างไปแล้ว เช่นผู้ประกอบการรู้ว่าสถานที่นั้นขายของไม่ได้อยู่แล้ว แต่ก็ต้องไป เนื่องจากทางทีมงานออแกไนซ์ได้ดำเนินการไว้แล้ว หากประชาชนทั่วไปสังเกตจะเห็นว่าหน้าตาร้านค้าต่าง ๆ จะหน้าเดิม ๆ ไม่มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมา อย่างเช่นการจัดงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ผ่านมาเป็นการจัดงานใหญ่ ก็ไม่ต่างจากที่ผ่านมา ไม่มีการเปิดกว้าง ให้ผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนไว้ในจังหวัด ต้องสามารถเข้าไปร่วมได้ด้วย แต่ตอนนี้ผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่สามารถไปร่วมได้ ตนเองก็เคยประสานไปก็ไม่ได้รับความอนุเคราะห์ในเรื่องของพื้นที่ขาย หากหน่วยงานภาครัฐจะทำเพื่อจังหวัดหรือเพื่อคนปทุมธานีจริง ๆ ต้องลงไปดูลงไปสำรวจว่าเมื่อจัดงานแล้วต้องมีสินค้าที่หลากหลายของจังหวัดปทุมธานี ทำไมมีสินค้าของจังหวัดปทุมธานีมีแค่กระจุกเดียว ที่เหลือเป็นส่วนอื่น จึงต้องอาศัยการร่วมตัวตั้งเครือข่ายฯ นี้ขึ้นมา.
หมายเหตุ ดร.ชัยภัฏ จันทร์วิไล 083-9789999, นายธนวัฒณ์ ธันยาภัทร์ชัยกุล 065-5369936, นายธนยศ ธนาดิลกภัทร์ 099-1592515

อนันต์ปทุมธานี

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link