ครูพี่โอ๊ะยกนิ้วให้ชาว รร.เอกชนอำนาจเจริญ สร้าง WOW เป็นอันดับต้นของภาคอีสานตอนล่าง!!

เมื่อวันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 8.30 น. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบาย สช. WOW WOW ก้าวสู่ยุคดิจิทัล แก่สถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ โดยมีนายธนูสินธ์ ไชยศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ นางประไพ ใจก้าวหน้า รักษาการในตำแหน่งศึกษาธิการ 14 นายเสรี ตุ้มอ่อน ศึกษาธิการจังหวัดอำนาจเจริญ นางสิริพรรณ อมรสิน ประธานคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน จังหวัดอำนาจเจริญ ดร.เพชรอุบล กาญจนพิมล ผู้อำนวยการโรงเรียนเจริญวิทยา ตลอดจนครู บุคลากร และนักเรียนนักศึกษา ให้การต้อนรับ และมีผู้มีเกียรติเข้าร่วม อาทิ นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนางญาณีนาถ เข็มนาค อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดอำนาจเจริญ และนางสาววันเพ็ญ ตั้งสกุล เลขาธิการคณะกรรมาธิการ ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร นางตติยา ใจบุญ รักษาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเผยแพร่ทางการศึกษา สำนักงาน กศน. นายชินกร คะอังกุ ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดอำนาจเจริญ นางยุวดี แจ้งกร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาร้อยเอ็ด เป็นต้น

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า ด้วยสไตล์การทำงานของครูพี่โอ๊ะ ที่ลุยไปทุกที่ทุกแห่ง เพื่อเข้าถึงทุกความต้องการในการพัฒนาการศึกษา ตลอดจนติดตามการทำงานของหน่วยงานในกำกับดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการบูรณาการการทำงานของทั้งสำนักงาน กศน. และ สช. เพื่อให้ความช่วยเหลือส่งเสริม สนับสนุน และเติมเต็มซึ่งกันและกัน ที่จะทำให้งานทุกงานมีความสำเร็จสมบูรณ์ และตอบโจทย์ความต้องการในแต่ละบริบทของการจัดการศึกษาและเรียนรู้ จึงถือเป็นมิติใหม่ของการบริหารงาน อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และต้องการให้เกิดการทำงานลักษณะนี้ในจังหวัดอำนาจเจริญเช่นกัน ที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาให้ความสำคัญกับการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ ทั้งในรูปแบบการศึกษาในระบบและนอกระบบ ไปจนถึงการจัดการเรียนรู้แก่ผู้สูงอายุในชุมชนหมู่บ้าน เพราะเชื่อว่าทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักเรียนนักศึกษา ผู้ปกครอง ประชาชน ตลอดจนภาคการเมืองในท้องที่ท้องถิ่น ล้วนเป็นเครือข่ายการทำงาน และเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการพัฒนาจังหวัดในระดับพื้นที่ จึงควรที่จะประสานและสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ พร้อมร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาการศึกษา ไปสู่เป้าหมาย “เด็กอำนาจเจริญทุกคนต้องได้เรียนหนังสือ และประชาชนชาวอำนาจเจริญ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ต้องได้เรียนรู้ตลอดชีวิต”

ในส่วนของการจัดการศึกษาเอกชน ของโรงเรียนและสถานศึกษาจังหวัดอำนาจเจริญในภาพรวม แม้จะเป็นจังหวัดเล็ก ๆ ที่มีเพียง 7 อำเภอ และมีประชากร 3.7 แสนคน แต่สามารถดำเนินการได้ดี ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ครอบคลุมความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ส่วนโรงเรียนเอกชนในระบบ ทั้ง 10 แห่ง ก็สามารถจัดการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนได้เป็นอย่างดี โดยมีผลการทดสอบ O-NET ชั้น ป.6 สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับจังหวัด และมีการพัฒนาทักษะผู้เรียนครอบคลุมในทุกมิติ

โดยเฉพาะโรงเรียนเจริญวิทยา ถือเป็นโรงเรียนตัวอย่างอีกหนึ่งแห่งในพื้นที่ภาคอีสาน ที่สามารถจัดการศึกษา เน้นส่งเสริมทักษะของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ทั้งด้านวิชาการ ด้วยนวัตกรรมหลักสูตรภาษาอังกฤษ (กรอบมาตรฐาน CEER) Pingu”s English, โรงเรียนสนุกคิดกับตัวเลข Maths-Whizz จากประเทศอังกฤษ, ห้องเรียนทดลองทางวิทยาศาสตร์ เน้นการปฏิบัติอย่างสนุกสนาน และการทำงานเป็นทีม ตลอดจนยังร่วมมือกับเครือข่ายวิชาการ “ตรังเจริญร้อยแก่นสาร” โรงเรียน 21 แห่งใน 10 จังหวัด เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการศึกษาที่เน้นคุณภาพตามบริบทของโรงเรียนเป็นสำคัญ

และในขณะเดียวกัน ยังผสานทักษะชีวิตให้กับเด็กนักเรียน โดยใช้หลักธรรมะในการวิทิสาสมาธิ ทุกวัน ๆ ละ 3 เวลา เพื่อหล่อหลอมและกล่อมเกลาจิตใจ ให้รู้ตัวรู้ตน เป็นพลังสมาธิ และนำไปสู่การเกิดปัญญา ซึ่งจะส่งผลดีต่อชีวิตของเด็ก ๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งยังไม่ละเลยในเรื่องของความเป็นไทย เด็ก ๆ ทุกคนได้รับการส่งเสริมความสามารถด้านดนตรีไทย และนาฏศิลป์ ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ ที่ควรสร้างความรักและความหวงแหนให้กับเยาวชนคนรุ่นหลัง ได้สืบสานให้อยู่คู่ประเทศไทยอย่างยั่งยืน

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ขอให้ผู้บริหาร ครู และบุคลากร ในโรงเรียนและสถานศึกษาเอกชนในจังหวัดอำนาจเจริญ ได้เห็นถึงความตั้งใจ ทุ่มเท และความใส่ใจของรัฐมนตรีคนนี้ ที่มีต่อชาวการศึกษาเอกชนทุกคน โดยเฉพาะในเรื่องของขวัญกำลังใจ ซึ่งให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ๆ และเป็นปณิธานในการทำงานด้านการศึกษา เพราะเชื่อว่า เมื่อครูและผู้บริหาร มีกำลังใจที่ดี ก็จะส่งผลถึงความร่วมมือในการจัดการศึกษาของเด็กและเยาวชนไทยทุกคนเช่นกัน ซึ่งการทำงานต่อจากนี้ ขอให้ทุกคนมองไปข้างหน้าร่วมกัน เพื่อจับมือกันนำพาการศึกษาเอกชนเป็นทางเลือกสู่อนาคตแก่ผู้เรียนในทุกช่วงวัย

“สำหรับแผนการทำงานต่อจากนี้ ก็ยังคงความมุ่งมั่นที่จะทลายข้อจำกัดต่าง ๆ ให้มากขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานครอบคลุมในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การขยายผลการเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลของครูเอกชน เพื่ออำนวยความสะดวก และลดการก่อหนี้สินจากการสำรองเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษา, อยู่ระหว่างการศึกษาระเบียบและเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อขยายสิทธิ์การกู้ยืมเงินจากกองทุนสงเคราะห์ฯ, การเปิดโอกาสให้ครูเอกชน ได้สอบคัดเลือกเป็นข้าราชการครู สังกัดสำนักงาน กศน. ในสัดส่วนร้อยละ 20 ของอัตราทั้งหมด 891 อัตรา,โครงการอบรบหลักสูตรนักบริหารเอกชนระดับสูง (นบส.สช.) ปีงบประมาณ 2563 จำนวน 120 คนต่อรุ่น, หลักสูตรอบรมครูแบบทางเลือก (Shopping List) กว่า 19 หลักสูตร สำหรับครูโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษา ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งจัดตั้งศูนย์บริการผู้เรียน ครูผู้สอน บุคลากรทางการศึกษาชาวต่างประเทศ (One stop service) เพื่อให้บริการชาวต่างประเทศที่มาติดต่อราชการ ให้สามารถบริการเบ็ดเสร็จในจุดเดียว เป็นต้น” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว!!

นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
15/2/2563!!

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link