ปทุมธานีนักธุรกิจเจ้าบริษัทปราบขยะกับมุมมองกับกองทุนBSF สี่แสนล้านอุ้มหุ้นกู้เอื้อประโยชน์เจ้าสัว?

ปทุมธานีนักธุรกิจเจ้าบริษัทปราบขยะกับมุมมองกับกองทุนBSF สี่แสนล้านอุ้มหุ้นกู้เอื้อประโยชน์เจ้าสัว?
วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 นายธีรวงศ์ สรรค์พิพัฒน์ นักธุรกิจหนุ่มเจ้าของ บริษัท ปราบขยะ รีไซเคิล จำกัด อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานีประธานกลุ่มเครือข่ายเอสเอ็มอีรุ่นใหม่ (Newgen SME) ได้ตั้งข้อสังเกตถึงพรก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ว่ากองทุน BSF จะพิจารณาอุ้มหุ้นกู้อย่างโปร่งใสและรอบคอบในการเข้าซื้อหุ้นกู้ เพราะอาจนำมาซึ่งการถูกตรวจสอบโดยองค์กรอิสระในอนาคต และให้คำนึงว่าเงินที่ได้เป็นหนี้สาธารณะที่กู้ในนามรัฐบาล คนไทยทุกคนเป็นลูกหนี้ การนำเงินสี่แสนล้านเข้าซื้อหุ้นกู้เจ้าสัวอาจทำให้ถูกมองว่าพรก.นี้ออกมาเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของตลาดทุน หรือของเจ้าสัวก็ได้หากเกณฑ์การอนุมัติไม่ชัดเจน กองทุน BSF ควรนำเงินไปช่วยคนจน และ SME ให้เข้าถึงแหล่งเงินได้เหมือนที่เจ้าสัวได้รับจะมีประโยชน์กว่า เพราะหุ้นกู้นั้นอาจเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ทำให้การเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสร้างความได้เปรียบกับการแข่งขัยทางธุรกิจ และทำให้ perfect competition ยิ่งไกลออกไป เหตุผลเพราะเจ้าสัวสามารถมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่า แทบจะผูกขาดไปในทุกตลาดการค้า โดยเฉพาะสามารถกู้ได้โดยเป็นผู้กำหนดดอกเบี้ยเอง ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เสียดอกเบี้ยเฉลี่ยเพียง 3-4.4 เปอร์เซ็นต์ หรือกู้ได้แม้กระทั่งธุรกิจที่กำลังขาดทุน ขณะที่รากหญ้าและ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากจะกู้ได้ต้องดอกเบี้ยแพงกว่าประมาณ 2 เท่า โดยต้องไม่ขาดทุนในงบการเงินและมีทรัพย์สินเป็นประกัน เจ้าสัวจึงได้แต้มต่ออย่างมากเมื่อเทียบกับรากหญ้าจากการครอบครองกระแสทุนและคอนเนคชั่นที่มากกว่า
ในไม่กี่วันที่ผ่านมาเฉพาะหุ้นกู้ล็อตแรก 2 เจ้าสัวใหญ่มีการออกขายหุ้นกู้มูลค่า 4.3 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมถึงหุ้นกู้ธุรกิจโทรคมนาคมรายใหญ่อีก 9.8 พันล้านบาท เหตุผลเพื่อนำเงินไปลงใช้ชำระหนี้ตามหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดไถ่ถอน และลงทุนเพิ่ม โดยตั้งข้อสังเกตถึงการขอเงินช่วยเหลือจากกองทุนBSF ว่าจะได้รับอนุมัติหรือไม่ ถ้าธุรกิจดีจริงตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาก่อนการแพร่ระบาดของโควิด ทำไมไม่มีเงินที่เก็บจากกำไรสะสมมาชำระเมื่อหุ้นกู้ถึงกำหนดชำระ ทำไมถึงขอเงินกองทุน BSF เพื่อ rollover ชำระหนี้ และอาจไม่สมเหตุผลถึงการออกหุ้นกู้ที่เต็มวงเงินตามเงื่อนไขการออกหุ้นกู้ อาจมีธุรกิจไม่กี่ประเภทที่สามารถขยายการลงทุนได้ในช่วงการแพร่ระบาดนี้ และจำเป็นต้องระดมเงินจากหุ้นกู้

กองทุน BSF มีอำนาจพิจารณาตามมาตรา 11 (3) และ ม.14 (2) ซึ่งให้สิทธิการผ่อนผันการให้เข้าซื้อหุ้นกู้ได้เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของยอดหุ้นกู้ที่ครบกำหนด และ เจ้าสัวอาจไม่จำเป็นต้องหาแหล่งเงินทุนไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะสามารถได้รับการผ่อนผันได้จากคณะกรรมการกองทุนฯ ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน พรก.อุ้มหุ้นกู้ฉบับนี้จึงให้สิทธิไว้ค่อนข้างมากซึ่งอาจเป็นเรื่องการใช้ดุลยพินิจที่ไม่โปร่งใสได้ในอนาคต กฎหมายจึงควรเขียนให้ชัดเจนและโปร่งใสไม่เปิดโอกาสให้ใช้ดุลยพินิจหรือสร้างเกณฑ์การพิจารณาแบบพิเศษขึ้นได้ ภาคเอกชนและคนไทยทุกคนจึงควรร่วมกันตรวจสอบการเข้าซื้อหุ้นกู้ของกองทุน BSF โดยเงินแผ่นดินต่อไปเพราะเจ้าสัวใหญ่ที่ทำธุรกิจอย่างโปร่งใสมีธรรมาภิบาล ไม่รังแกสัตว์โลก และมีเมตตา ควรได้รับการสนับสนุน แต่เจ้าสัวบางคนออกสื่อว่าไม่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือให้ไปช่วยคนจนก่อน แต่กลับมายื่นขอให้รัฐบาลช่วยอุ้มหุ้นกู้คนไทยทุกคนไปกู้มาในนามประเทศนั้นเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งกับการให้สัมภาษณ์อย่างยิ่ง ในวิกฤตนอกจากไม่ได้ช่วยแล้วก็ไม่ควรเบียดบังเอาผลประโยชน์ไปอีก การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีจึงควรกระทำให้ตรงกับตัวตนที่แท้จริง ไม่ใช่การตลาดที่มุ่งเน้นสร้างภาพลักษณ์ปลอมจนอาจต้องจ้างคนคอมเมนต์เขียนชม ไม่ว่าการตลาดจะช่วยสักเท่าใดคงหลีกหนีความจริงไปไม่ได้ เช่น กรณีโรงงานตุ๊กตาใหญ่ไฟไหม้เสียชีวิตกว่าสองร้อยศพ ทำให้ได้เห็นความรับผิดชอบของการกระทำผิดกฏหมายเรื่องการต่อเติมโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตมีผลต่อชีวิตของแรงงานรากหญ้า บางครั้งกฏหมายอาจเลี่ยงได้มีช่องว่าง แต่ไม่ใช่กฏแห่งกรรม
รัฐบาลควรมุ่งเน้นช่วยเหลือรากหญ้า และ SME เป็นอันดับแรกเพราะ SME เปรียบเหมือนทารกที่เพิ่งคลอดต้องช่วยให้ตั้งไข่และเริ่มเดินเพื่อมีชีวิตที่แข็งแรงต่อไป เป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจขนาดใหญ่ก็ล้วนแล้วแต่ผ่านเส้นทางเดินนี้มาด้วยกัน เมื่อเจ้าสัวเข้าสู่เส้นชัย และการเมืองมีบ้างบางคนกลับชิงความได้เปรียบปิดเส้นทางที่เคยเดินผ่านไม่ให้มีใครเข้าสู่เส้นชัยได้อีกเป็นกลไกที่บิดเบี้ยว และอยุติธรรม
ในเวลาวิกฤตการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิดอาจมองได้ว่าเป็นโอกาสให้เจ้าสัวที่ดีมีวิสัยทัศน์ได้แสดงสปิริตให้เห็นถึงความแข่งแกร่งทางธุรกิจของตนโดยรับผิดชอบต่อเจ้าหนี้หุ้นกู้ที่ตนเองเป็นผู้ก่อ ไม่ยื่นขอเอาเงินที่คนไทยทุกคนเป็นเจ้าของไปชำระหนี้หุ้นกู้ที่ถึง Maturity date โดยผ่านกองทุน BSF การยื่นขอกองทุนที่อาจส่งผลต่อภาพลักษณ์องค์กรได้ในอนาคต สะท้อนให้เห็นถึงตรรกะผลกำไรที่ดีเมื่อครั้นเปิดขายตราสารหนี้แต่พอถึงกำหนดชำระกลับไม่สามารถชำระหนี้ด้วยเงินกำไร ทั้งยังขายกันจนเต็มจำนวนเงื่อนไขการออกตราสารหนี้ พร้อมทำการ rollover ไปอย่างต่อเนื่อง
รัฐบาลจึงต้องมีกลไกการส่งเสริม และปกป้อง SME ที่จับต้องได้ นโยบายแบบ incubator ทางเศรษฐกิจจะทำให้รากหญ้า และ SME มีกำลังซื้ออยู่ได้ด้วยตัวเองเป็นหลักเสริมให้ฐานปิรามิดแข็งแรง สามเหลี่ยมด้านบนที่คอยและยังกดฐานปิรามิดตลอดเวลาจะได้ไม่กลิ้งหล่นลงมาเป็นสามเหลี่ยมที่มั่นคงทั้งองคาพยพ ในประเทศไทยนักธุรกิจที่เก่งอาจมีอยู่มากจนเกินไปแล้ว แต่นักธุรกิจที่เก่งและมีเมตตากลับหายากยิ่ง การสรรเสริญควรมอบให้กับนักธุรกิจที่เก่งและมีเมตตายึดหลัก “kindness economy” ไม่ใช่มุ่งเน้นแต่รายได้และกำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว คนเก่งควรกระจายเหมือนรายได้ให้เติบโตอิสระเป็นความหลากหลายที่มีค่า ไม่ใช่ทุกคนเก่งต้องอยู่ที่องค์กรเพียงแห่งเดียวและภูมิใจในเวลาชีวิตที่เหลืออยู่ต่อไป.

อนันต์ปทุมธานี

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link