เมื่อแม่ทัพสีกากีออกกฎเหล็ก ตามพนักงานสอบสวนกลับเข้าคอกภายใน 7 วัน แก้วิกฤติขาดแคลน

ว่ากันว่าปัญหาการขาดแคลนของพนักงานสอบสวนเกิดจาก “ทุบแท่งความเจริญก้าวหน้า” เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ผลงานชิ้นโบแดงของ รัฐบาลเผด็จการทหาร ในการใช้อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติกำกับดูแลกองทัพตำรวจ

ผสมโรงกับ “คนไหนอยากออก-คนนอกไม่อยากเข้า” จำเป็นต้องเลือกเอา “คนไม่อยากทำ”เข้าไปเผชิญวิบากกรรมกับสำนวนคดีที่เสมือน “ต้นธาร” ในกระบวนการยุติธรรม

ที่มาของการแต่งตั้งโยกย้ายทำลายงานสอบสวน

จุดชนวนหลายคนวิ่งเข้า “ซบนาย” ขอโยกไปช่วยราชการตามสำนักงาน รวมถึงชุดเฉพาะกิจสารพัด โยนทิ้งความรับผิดชอบหน้างานตัวเอง ให้พนักงานสอบสวน “ไร้เส้นสาย” อยู่กับซังกะตาย บางรายเลวร้ายถึงกับ “ฆ่าตัวตาย”

กลายเป็นวิกฤติกระทบถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ตกเป็นผู้เสียหาย

เมื่อหลายเดือนก่อน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตัดสินใจจัดสัมมนา “การพัฒนางานบริหารบุคคลที่เกี่ยวข้องกับงานสอบสวน“ ระดมความคิดเห็นจากข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติงานในสายงานสอบสวนกว่า 300 นาย

แบ่งกลุ่มสัมมนา เป็นกลุ่มที่ 1 กระบวนการสรรหาบุคลากรเพื่อทำหน้าที่พนักงานสอบสวนทุกระดับ กลุ่มที่ 2 การฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานสอบสวน กลุ่มที่ 3 ระบบสนับสนุนงานสอบสวนและการสร้างแรงจูงใจ กลุ่มที่ 4 การหมุนเวียนพนักงานสอบสวนไปทำหน้าที่อื่น

สรุปผลการสัมมนาจากผู้เข้าร่วมด้วยการวางแนวทางการแก้ปัญหาออกเป็น 3 ระยะ

ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว

แม่ทัพสีกากียอมรับภายหลังรับฟังความคิดเห็นของพนักงานสอบสวนส่วนใหญ่ว่า เรื่องที่พนักงานสอบสวนฆ่าตัวตายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ดังนั้นเรื่องที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน คือ การแก้ปัญหาพนักงานสอบสวนที่ถูกแต่งตั้ง ผิดฝั่ง ผิดสาย

การแต่งตั้งคนไม่มีคุณวุฒิไปอยู่งานสอบสวน

รวมถึงปัดฝุ่นแท่งพนักงานสอบสวน

กระนั้นก็ตาม วาระแต่งตั้งระดับ รองผู้บังคับการ-สารวัตร ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยินดีให้ผู้ที่เคยถูกปรับมาอยู่ในงานสอบสวนสามารถเขียน ความสมัครใจ ย้ายไปอยู่หน้างานที่ถนัดได้

เจ้าตัวพร้อมจะรับฟังและพิจารณาตามความเหมาะสม

สุดท้ายปัญหายังบานปลายเป็นไฟลามทุ่งปทุมวัน

ล่าสุด พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีบันทึกข้อความส่วนราชการเรื่อง “การปรับปรุงประสิทธิภาพงานสอบสวน”

เนื่องจากปัจจุบันประสบปัญหาการขาดแคลนข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสอบสวน

สาเหตุหนึ่งมาจากผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจ หรือหน่วยต่าง ๆ มีคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่อื่น “ที่มิใช่งานสอบสวน” ทำให้เกิดผลกระทบต่อการบริการประชาชนในการอำนวยความยุติธรรม

ดังนั้น เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมกับประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพประกอบกับเพื่อให้การบริหารงานบุคคลในภาพรวมสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

เจ้าของรหัสพิทักษ์ 1 “ยื่นคำขาด” ให้ยกเลิกคำสั่งที่สั่งการให้ข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสอบสวนไปปฏิบัติราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการไปช่วยราชการนอกสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การไปปฏิบัติราชการ หรือการอนุมัติเดินทางไปปฏิบัติราชการของศูนย์ปฏิบัติการต่าง ๆ

รวมถึงการไปรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญทุกกรณี

เว้นแต่

คำสั่งให้ข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสอบสวนในสถานีตำรวจไปปฏิบัติราชการงานสอบสวนในสถานีตำรวจ

คำสั่งให้ข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสอบสวนที่ไม่ใช่ในสถานีตำรวจไปปฏิบัติราชการงานสอบสวนในสถานีตำรวจ หรืองานสอบสวนอื่น

คำสั่งให้ข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสอบสวนที่มีกรณีเป็นที่สงสัยว่าประพฤติบกพร่องต่อหน้าที่ หรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่ากระทำความผิดทางวินัย หรืออยู่ระหว่างต้องหาในคดีอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา หากให้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานเดิม อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้

ทั้งนี้ให้ส่งตัวข้าราชการตำรวจกลุ่มดังกล่าวกลับไปปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งเดิม

ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่สั่งการ

คือวันที่ 12 มิถุนายน 2563

เน้นกำชับด้วยว่า ให้หัวหน้าสถานีตำรวจ หรือผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดระดับกองบังคับการแล้วแต่กรณี ติดตามข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสอบสวนที่ถูกยกเลิกคำสั่งข้างตัน กลับไปปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งเดิมทุกราย

ขณะเดียวกัน ห้ามมิให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจทุกระดับชั้น สั่งให้ข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสอบสวนไปปฏิบัติราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือการปฏิบัติหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการต่าง ๆ การไปช่วยราชการนอกสังกัด รวมถึงการไปรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ

เว้นแต่มีเหตุผลความจำเป็นอย่างยิ่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะพิจารณาเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายไป

นอกจากนี้ ให้หัวหน้าสถานีตำรวจจัดให้ข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสอบสวนทุกรายอยู่ปฏิบัติหน้าที่เข้าเวรสอบสวนโดยให้ปฏิบัติหน้าที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป

ตามประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 25 เวรยาม สายตรวจ กองรักษาการณ์ บทที่ 8 พนักงานสอบสวนเวร เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง

กำชับให้หัวหน้าสถานีตำรวจควบคุม กำกับดูแลการปฏิบัติของข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสอบสวนให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนอย่างเคร่งครัด ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 354/2562 ลง 20 มิถุนายน 2562 เรื่อง หน้าที่รับผิดชอบในการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาของหัวหน้าพนักงานสอบสวน

กรณีจำเป็นอย่างยิ่งที่ข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสอบสวนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ด้านสอบสวนได้ตามปกติ ในการเบิกจ่ายเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษให้แก่ข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสอบสวนและปฏิบัติหน้าที่ด้านสอบสวน ให้หน่วยต่าง ๆ ดำเนินการเป็นไปด้วยความถูกต้องและตามความเป็นจริง

ยึดถือระเบียบคณะกรรมการข้าราชการตำรวจว่าด้วยเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษสำหรับตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสอบสวน พุทธศักราช 2559 อย่างเคร่งครัด

หากตรวจพบว่ามีการฝ่าฝืน จะพิจารณาข้อบกพร่องผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น

มีจเรตำรวจตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเวรทุกรายแล้วบันทึกผลการตรวจให้ชัดเจน

ผลการตรวจสอบจะต้องสอดคล้องกับสถิติการรับคดีในระบบ CRIMES และคำสั่งการให้ปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนเวร

หากพบข้อบกพร่องให้ ดำเนินการทางวินัย ตามอำนาจหน้าที่

ถือเป็น “กฎเหล็ก” ของ “แม่ทัพสีกากี” ที่กวาดต้อนพนักงานสอบสวนกลับคอก ตอกฐานรากต้นธารกระบวนการยุติธรรมให้แข็งแกร่งไม่ต้องสั่นหวั่นไหว

ส่วนจะแก้ตรงจุดหรือไม่ ลองถามใจพนักงานสอบสวนกันดู

ที่มาcop’s magazine

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link