ศปถ.หารือแนวทางขับเคลื่อนการลดอุบัติเหตุทางถนนตามกรอบ “ปฏิญญาสตอกโฮล์ม” พร้อมเตรียมร่างฯ แผนบูรณาการลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564

ศปถ.หารือแนวทางขับเคลื่อนการลดอุบัติเหตุทางถนนตามกรอบ “ปฏิญญาสตอกโฮล์ม” พร้อมเตรียมร่างฯ แผนบูรณาการลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564วันนี้ (23 ก.ค. 63) เวลา 09.30 น. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 2/2563 โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมพิจารณาประเด็นความร่วมมือในการขับเคลื่อนการสร้างความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย ภายใต้ “ปฏิญญาสตอกโฮล์ม” (Stockholm Declaration) ที่มุ่งลดการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนลง ร้อยละ 50ภายในปี พ.ศ.2573 และนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์มุ่งสู่ศูนย์ (Vision Zero) ภายในปี พ.ศ. 2593 พร้อมทั้งได้พิจารณาร่างแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 เพื่อเตรียมพร้อมในการดูแลความปลอดภัยทางถนนแก่ประชาชนให้สอดรับกับแนวคิด “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ”นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) เปิดเผยว่า อุบัติเหตุทางถนนคร่าชีวิตคนไทยเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้การสร้างความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ได้บูรณาการทุกภาคส่วนดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างจริงจังและต่อเนื่องในทุกระดับ ภายใต้แผนระดับประเทศและกรอบการดำเนินงานระดับโลก โดยในคราวการประชุมระดับโลกว่าด้วยความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 3 ณ ราชอาณาจักรสวีเดน ประเทศไทยได้รับทราบเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานสร้างความปลอดภัยในห้วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 ภายใต้ “ปฏิญญาสตอกโฮล์ม” (Stockholm Declaration) ที่ประชุมฯ ในวันนี้จึงได้ร่วมพิจารณาแนวทางการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยให้เป็นไปตามกรอบการดำเนินงาน “ปฏิญญาสตอกโฮล์ม” ซึ่งมีเป้าหมายในการลดการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนลงร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ.2573 ในทุกกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนน และขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการบูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนภายใต้กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยเชื่อมโยงการดำเนินงานภายใต้บริบทต่างๆ อย่างรอบด้าน พร้อมให้ความสำคัญกับการพัฒนายุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติงานความปลอดภัยทางถนนในทุกระดับ ทั้งระดับชาติระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายด้านความปลอดภัยทางถนนอย่างเข้มข้น รวมถึงกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยด้านการออกแบบและก่อสร้างถนน ด้านการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ด้านยานพาหนะ และด้านการใช้ถนน โดยเฉพาะในด้านมาตรฐานยานพาหนะที่กำหนดให้ยานพาหนะทุกประเภทที่ผลิต ขาย และใช้งานภายในปี พ.ศ.2573 ต้องติดตั้งอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ กรอบดังกล่าวยังได้เน้นการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมาย ด้านการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบเหตุ ซึ่ง ศปถ. ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านต่างๆ ในคณะกรรมการ ศปถ. และหน่วยงานภาคีเครือข่าย นำปฏิญญาสตอกโฮล์มและเป้าหมายระดับโลก เป็นกรอบแนวทางในการกำหนดมาตรการขับเคลื่อนการลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับบริบททางสังคม สภาพปัญหา และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงให้ได้ ร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2573 และนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์มุ่งสู่ศูนย์ (Vision Zero) ภายในปี พ.ศ. 2593นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้เสนอร่างแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2564 ต่อที่ประชุม เพื่อร่วมกันพิจารณาและเสนอข้อคิดเห็นเพิ่มเติม โดยร่างแผนฯ ดังกล่าวได้กำหนดประเด็นในการรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” ซึ่งสอดรับกับแนวคิดการใช้ชีวิตปกติวิถีใหม่ (New Normal) พร้อมเตรียมกำหนด 5 มาตรการสำคัญในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านการบริหารจัดการ ด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม ด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ ด้านผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ โดยได้ใช้กลไกของพื้นที่เป็นตัวขับเคลื่อนการบูรณาการในลักษณะยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area Approach) และกำหนดแนวทางการประสานการปฏิบัติเชื่อมโยงส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างใกล้ชิด ผ่านกลไกความร่วมมือของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมประสิทธิภาพของแผนและแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่ได้จากบทเรียนการดำเนินงานที่ผ่านมา ศปถ.จะได้นำข้อเสนอแนะจากที่ประชุมในวันนี้ไปปรับปรุงแผนฯ ดังกล่าวให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ และสามารถตอบโจทย์การปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในทุกรูปแบบ ก่อนเสนอคณะกรรมการ ศปถ. คณะรัฐมนตรีพิจารณาและประสานให้ทุกหน่วยงานนำไปเป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมของแผนปฏิบัติการดูแลและสร้างความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ต่อไป…

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link