ราชบุรี – เปิดตำนานออกพรรษา ตักบาตร-แข่งเรือยาวชาวไทยมอญ-รามัญ

วันที่ 2 ต.ค.63 ที่วัดใหญ่นครชุมน์ ต.นครชุมน์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ชาวไทยมอญ-รามัญ กว่าพันคนจากหลายจังหวัด ได้มาร่วมตัวกันตักบาตรเทโว ข้าวสาร อาหารแห้ง แก่พระภิกษุสงฆ์ และชมประเพณีแข่งเรือยาว เนื่องในวันออกพรรษา โดยมีเจ้าหน้าที่ อสม.ตำบลนครชุมน์ ได้ตั้งจุดคัดกรองตรวจอุณหภูมิอย่างละเอียด เพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19

ซึ่งก่อนที่จะมีพิธีใส่บาตร พระครูนครเขมกิจ เจ้าอาวาสวัดใหญ่นครชุมน์ เจ้าคณะตำบลนครชุมน์-บ้านม่วง ได้เดินปะพรมน้ำมนต์ให้กับชาวบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยมี พ.ต.อ.สุทธิพงษ์ พงศ์ประภาอำไพ ผกก.สภ.บ้านโป่ง เป็นผู้ถือขันใส่น้ำมนต์ ก่อนพระครูนครเขมกิจ ได้เดินนำพระลูกวัดออกจากพระอุโบสถ รับบาตรจากชาวไทยมอญ-รามัญ ที่ยืนรอกันเป็นแถวยาว มีทั้งหนุ่มสาวพร้อมผู้เฒ่าผู้แก่และเด็กๆ ซึ่งแต่งกายอย่างสวยสดงดงามด้วยชุดไทยมอญ-รามัญ ในสมัยต่างๆ ทำให้มีสีสันและสร้างความประทับใจแก่ผู้พบเห็น และยังทำให้งานบุญออกพรรษาปีนี้ เป็นไปอย่างคึกคัก

นอกจากนั้นที่บริเวณแม่น้ำแม่กลองหน้าวัดใหญ่นครชุมน์ ยังได้จัดการแข่งขันเรือยาวประเพณี ซึ่งการแข่งขันเรือยาวประเพณีวัดใหญ่นครชุมน์ ได้จัดสืบทอดกันมายาวนานถึง 87 ปี ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2476 โดยกำหนดวันออกพรรษาของทุกปี หลังจากชาวบ้านเข้าวัดทำบุญแล้ว จะมาชมการแข่งขันเรือยาวกัน สำหรับในปีนี้ การแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เรือยาวประเภท 30 ฝีพาย และเรือยาวประเภท 12 ฝีพาย โดยมี นายยุทธพร พิรุณสาร นายอำเภอบ้านโป่ง ได้ให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิดการแข่งขัน และมี นายสมนึก แม้นจิตต์ นายก อบต.นครชุมน์ เป็นผู้กล่าวรายงาน ถึงประวัติความเป็นมา ของการแข่งขันเรือยาวประเพณีวัดใหญ่นครชุมน์

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับวัดใหญ่นครชุมน์ ตั้งอยู่ในชุมชนชาวมอญ ติดกับแม่น้ำแม่กลอง เป็นวัดเก่าแก่ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายรามัญ ที่อพยพเข้ามาเมื่อช่วงราวปี พ.ศ.2091 – 2108 ตรงกับสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช แห่งกรุงศรีอยุธยา โดยชาวมอญได้เข้ามาอาศัยพึ่งพระบรมโพธิสมภารและรวมกันอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย นับถือผีบรรพบุรุษและเคร่งคัดในพุทธศาสนา วัดใหญ่นครชุมน์ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่ตามข้อสันนิษฐานของคนเก่าแก่ในพื้นบ้านประกอบหลักฐานที่ค้นพบ เชื่อว่าชนชาติมอญที่อพยพเข้ามาอยู่ หลังจากปักหลักปักฐานอยู่อย่างมั่นคงแล้ว จึงได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นศูนย์รวมใจของชาวมอญ เมื่อถึงวันสงกรานต์ วันออกพรรษา และวันสำคัญทางพุทธศาสนา ชาวไทยรามัญ บ้านนครชุมน์ ก็จะพากันเข้าวัดทำบุญ ยึดมั่นถือปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน

สุจินต์ นฤภัย(เต้) จ.ราชบุรี

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link