จังหวัดศรีสะเกษนำทีมโชว์ วิถีลุ่มน้ำโขง ชี มูล อัศจรรย์ฝ้ายทอมือ ที่กรุงเทพมหานคร

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 เวลา 16.00 น. ณ บริเวณลานโปรโมชั่น ชั้น 1 ศูนย์การค้าเจเจมอลล์ กรุงเทพมหานคร นายธงชัย เจริญพานิชย์กุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน“งานพัฒนายกระดับคุณภาพผ้าทอ วิถีลุ่มน้ำโขง ชี มูล อัศจรรย์ฝ้ายทอมือ”กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 โดยมีนายชัยยงค์ ผ่องใส ผอ.กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวศรีสะเกษ นายธีระชัย ลิขิตสมบูรณ์ ผู้จัดการทั่วไป ศูนย์การค้าเจเจ มอลล์ และหัวหน้าส่วนราชการทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธีเปิดเป็นจำนวนมาก
นายธงชัย เจริญพานิชย์กุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า จังหวัดศรีสะเกษจัดกิจกรรมพัฒนายกระดับคุณภาพผ้าทอวิถีลุ่มน้ำโขง ชี มูล อัศจรรย์ผ้าทอมือ ในระหว่างวันที่ 23 – 27 กันยา 2563 ณ ลานโปรโมชั่นชั้น 1 ศูนย์การค้า เจเจ มอลล์

กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ผู้เข้ามาชมงานได้สัมผัสผ้าทอมือของจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผ้าเบญจศรี ทำรายได้สู่ชุมชนผ่านสำนักงานพัฒนาชุมชน ตลอดจนอาหารและเครื่องดื่มจำนวน 45 ผลิตภัณฑ์ และมีผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายผ้าย้อมครามของจังหวัดอุบลฯ จังหวัดยโสธร จังหวัดอำนาจเจริญ ที่ได้รับการพัฒนาและยกระดับคุณภาพผ้าทอ ที่มีความโดดเด่นเป็นสินค้าระดับสากลอีกจำนวน 15 ผลิตภัณฑ์ ภายในตราสัญลักษณ์Brand ในสินค้า E-san Cotton of Thailand ให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล นอกจากนี้ภายในงานยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของจังหวัดศรีสะเกษและมีการเดินแบบของดารา และมีนักร้อง ต่าย อรทัย มาสร้างความบันเทิงแก่ผู้มาร่วมงานอีกด้วย
ด้าน ดร กัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวศรีสะเกษ กล่าวว่า ผ้าทอมือเบญจศรี เป็นผ้าทอพื้นถิ่นที่นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้ทำเป็นแบรนด์ของศรีสะเกษ โดยใช้วัสดุธรรมชาติที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด 5 อย่างมาย้อมสีผ้าได้ผ้าทอใหม่ 5 สี โดยใช้ชื่อต้นของจังหวัด คือ “ศรี” เป็นคำนำหน้าชื่อผ้า เช่น ผ้าทอศรีลาวา ที่ย้อมด้วยดินลาวาภูเขาไฟ จะได้ผ้าทอสีน้ำตาลแดง ผ้าศรีกุลา ย้อมด้วยดินจากทุ่งกุลาร้องไห้ จะได้ผ้าสีเทา ผ้าศรีมะดัน ย้อมจากเปลือกไม้มะดัน ที่ใช้ทำเป็นไม้ไก่ย่าง ได้ผ้าสีน้ำตาลอ่อน ผ้าศรีลำดวน ย้อมจากใบลำดวน ต้นไม้ประจำจังหวัด ได้ผ้าสีเหลืองนวล
และผ้าศรีมะเกลือ ย้อมจากผลมะเกลือ ภูมิปัญญาการย้อมดั้งเดิมของชาวอีสานใต้ ได้ผ้าสีมะเกลือดำส่วนคำว่า “แส่ว” เป็นการสอยหรือถักลายบนผ้าโดยภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ผ้าเหยียบมาตัด แล้วเย็บแส่วด้วยมือสวยงาม เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดสนับสนุนทำให้ชาวบ้านจำหน่ายผ้าได้หลายสี ไม่ใช่ขายได้เฉพาะสีดำมะเกลือเท่านั้น โดยเฉพาะช่วงนี้มีการตักบาตรทุกวันอังคาร ผ้าทอพื้นเมืองก็ยิ่งขายดีสร้างรายได้ให้ชุมชนหลายพื้นที่มากและส่งเสริมการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

ข่าว/ภาพ…..บุญทัน ธุศรีวรรณ

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link