คณะวิทย์ ม.อุบล ฯ โชว์ผลงานนวัตกรรม “ชุดตรวจแมกนีเซียมภาคสนามในน้ำยางพารา” ไม่ต้องพึ่งห้องแล็บ  รู้ผลภายใน 1 นาที

คณะวิทย์ ม.อุบล ฯ โชว์ผลงานนวัตกรรม “ชุดตรวจแมกนีเซียมภาคสนามในน้ำยางพารา”
ไม่ต้องพึ่งห้องแล็บ รู้ผลภายใน 1 นาที
นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โชว์ผลงานนวัตกรรม “ชุดตรวจแมกนีเซียมภาคสนามในน้ำยางพารา” สามารถตรวจได้เองโดยไม่ต้องพึ่งห้องแล็บ สะดวกรวดเร็วรู้ผลภายใน 1 นาที และได้รับอนุญาตจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อย พร้อมต่อยอดการค้าหนุนการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศ
รองศาสตราจารย์ ดร.ปุริม จารุจำรัส รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และหัวหน้าคณะวิจัยโครงการ “ชุดตรวจแมกนีเซียมภาคสนามในน้ำยางพารา” กล่าวว่า คณะวิจัยฯ ได้ร่วมกันคิดค้นและพัฒนานวัตกรรม “ชุดตรวจแมกนีเซียมภาคสนามในน้ำยางพารา” ที่ทันสมัยตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและชุมชน ในการคิดค้นพัฒนาชุดทดสอบแมกนีเซียมภาคสนามในน้ำยางพาราขึ้นมา เพื่อวิเคราะห์ปริมาณแมกนีเซียมในน้ำยาง ด้วยการตรวจวัดทางสีที่สามารถอ่านค่าได้ด้วยตาเปล่า โดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีทักษะในการวิเคราะห์ก็ทำได้อย่างรวดเร็วทราบผลภายใน 1 นาที ทั้งยังใช้ปริมาณตัวอย่างน้อยแต่ให้ผลการวิเคราะห์เชิงกึ่งปริมาณที่มีความถูกต้องแม่นยำ ใช้สารเคมีและตัวอย่างเพียงเล็กน้อยจึงทำให้มีปริมาณของเสียน้อยมากเมื่อเทียบกับวิธีมาตรฐาน ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวเหมาะกับผู้ประกอบการที่แปรรูปน้ำยางสดเป็นน้ำยางข้น และต้องมีการตรวจวัดแมกนีเซียมก่อนและหลังการผลิตน้ำยางในขั้นตอนต่อไป ที่จะช่วยประหยัดเวลาในการตรวจสอบและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้ดียิ่งขึ้น สำหรับชุดตรวจแมกนีเซียมภาคสนามในน้ำยางพารา ประกอบด้วย 2 ชุดทดสอบ ได้แก่ 1) ชุดทดสอบแมกนีเซียมภาคสนามในน้ำยางพารา หนึ่งชุดประกอบด้วย น้ำยา A น้ำยา B ขวดทำปฏิกิริยา ช้อนตักตัวอย่างและคู่มือฉบับภาษาไทยและฉบับภาษาอังกฤษ ในขั้นตอนแรกจะทำการดูดน้ำยา A ใส่เข้าไปในขวดทำปฏิกิริยา แล้วก็ตักตัวอย่างด้วยช้อนที่ให้มาใส่ลงไปในขวดทำปฏิกิริยาอีกครั้ง จากนั้นจะทำการหยดน้ำยา B หยดลงไปทีละ 1 หยด เขย่าให้เข้าเป็นอย่างดี ซึ่งในงานวิจัยนี้ได้ทำการออกแบบให้น้ำยา B จำนวน 1 หยด ให้มีค่าเท่ากับปริมาณแมกนีเซียม 50 มิลลิกรัมต่อลิตร (ตามค่ากำหนดมาตรฐานของตลาดสินค้าเกษตรและกรมควบคุมมลพิษ) ทำการหยดน้ำยา B ไปเรื่อย ๆ จนกว่าสีของตัวอย่างจะเปลี่ยนจากสีม่วงไปเป็นสีฟ้า ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราใช้น้ำยา B จำนวน 2 หยด นั้นแสดงว่าตัวอย่างของเรามีปริมาณแมกนีเซียมอยู่ที่ประมาณ 100 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยชุดทดสอบที่พัฒนาขึ้นสามารถเก็บรักษาได้มากกว่า 18 เดือน และ 2) ชุด barcode sensor ในการหาแมกนีเซียมที่ผลิตจากกระดาษ สำหรับการตรวจวัดปริมาณแมกนีเซียมในตัวอย่างน้ำยางและตัวอย่างน้ำ ในชุดอุปกรณ์จะประกอบไปด้วย ตัว barcode sensor หลอดหยดสารและคู่มือสำหรับการทำการตรวจวัดที่มาพร้อมกับตัว barcode pattern of Magnesium standard สำหรับขั้นตอนในการตรวจวัดเราจะทำการวางตัวชิ้นงานในแนวระนาบ จากนั้นดูดตัวอย่างที่ทำการสกัดและก็ปรับให้เป็น pH 7 หรือ pH ที่เป็นกลาง ลงไปบนสามเหลี่ยมของชิ้นงาน รอประมาณ 3 นาที ก็จะเห็นแถบสีชมพูขึ้นบนแถบสีฟ้า จึงถ่ายภาพชิ้นงานที่เสร็จแล้วทำการประมวลผลผ่านแอปพลิเคชัน UBU Omg sensor ที่เราคิดค้นขึ้นมา ก็จะได้ค่าความเข้มข้นแมกนีเซียมสุดท้ายออกมา “ชุดทดสอบแมกนีเซียมภาคสนามในน้ำยางพารา ได้จดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2561 และได้นำผลงานตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการนานาชาติซึ่งอยู่ในฐานข้อมูล Scopus และ web of science รวมทั้งจัดแสดงในงานมหกรรมแสดงสินค้าและนวัตกรรม งานสัมมนาวิชาการต่าง ๆ ซึ่งเชื่อมั่นว่างานวิจัยนี้สามารถนำไปต่อยอดเชิงการค้าในอุตสาหกรรมยางพาราได้ในอนาคต นอกเหนือจากนี้ยังคิดว่าสามารถใช้ Platform ดังกล่าวประยุกต์ใช้ในการตรวจปฏิกิริยาทางสีที่มีความวุ่นวายซับซ้อนที่อยู่ในห้องปฏิบัติการได้อีกหลายชนิด
สนใจนวัตกรรมชุดตรวจแมกนีเซียมภาคสนามในน้ำยางพารา ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โทร. 045-353300, 090-2875363

กิตติภณ / ข่าว.

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link