ศรีสะเกษ ขับเคลื่อนวาระจังหวัด เกษตรบูรณาการข้าวแปลงใหญ่ต้นแบบตำบลผักไหม มุ่งนำ Best Practrceไปขยายผลสู่เกษตรกร

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ที่ศูนย์แปลงใหญ่ข้าวตำบลผักไหม อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายบุญมี สุรโคตร ประธานแปลงใหญ่จังหวัดศรีสะเกษ นายวิชัย ศรีโพธิ์งาม เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ และคณะกรรมการระดับจังหวัดศรีสะเกษ ได้ร่วมกันลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนวาระจังหวัดศรีสะเกษ โดยมี นายศราวุธ ทรงโฉม นายอำเภอห้วยทับทัน นายไพฑูรย์ ฝางคำ ประธานแปลงใหญ่ข้าวตำบลผักไหม และคณะกรรมการแปลงใหญ่อำเภอห้วยทับทัน ร่วมให้การต้อนรับและบรรยายสรุปการดำเนินงานข้าวแปลงใหญ่ต้นแบบตำบลผักไหมอำเภอห้วยทับทัน นำเสนอผลการดำเนินงาน ปัญหา/อุปสรรค ต่อคณะทำงาน ทั้งนี้เพื่อค้นหาพื้นที่เป้าหมายจากพื้นที่การพัฒนาที่โดดเด่น (Best Practice) หรือพื้นที่เป้าหมายที่ต้องการส่งเสริมหรือแก้ไขปัญหา เพื่อนำไปเป็นต้นแบบการพัฒนา และขยายบผลการพัฒนาไปสู่เกษตรกรกลุ่มอื่นๆต่อไป
หลังจากนั้น นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และคณะ ได้เยี่ยมชมแปลงปลูกข้าวของนายทองพันธ์ วิเศษชาติ สมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวตำบลผักไหม มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2559 มีการทำนาอินทรีย์ เนื้อที่ 5 ไร่ โดยมีการทำเกษตรผสมผสาน เช่น เลี้ยงปลา ปลูกผัก เลี้ยงโคเนื้อ เลี้ยงไก่พื้นเมือง ได้รับผลประโยชน์จากการรวมกลุ่มหลายด้าน เช่นการตรวจรับรองมาตรฐานการผลิตข้าวอินทรีย์ การเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตร และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับสมาชิกในกลุ่ม ปัจจุบันตนมีรายได้จากการทำการเกษตรสามารถเลี้ยงครอบครัวให้มีความเป็นอยู่อย่างมีความสุข มีเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า จังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 4.2 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 76 ของพื้นที่ทั้งหมดนับเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ ได้กำหนดการพัฒนาด้านการเกษตรของพืชเศรษฐกิจได้แก่ทุเรียน ข้าวหอมมะลิ หอมแดงและพริก เป็นวาระจังหวัดภายใต้นโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดแบบบูรณาการ มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนบูรณาการร่วมกัน การขับเคลื่อนงานแบบบูรณาการ ตามบทบาทและภารกิจของแต่ละองค์กร โดยกำหนดแนวทางการพัฒนาให้ครบห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ได้แก่การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน เช่นการพัฒนาศักยภาพศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ศูนย์ข้าวชุมชน/ ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย (GAP/ Organic) ครบวงจร เพื่อเพิ่มมูลค่า/ การส่งเสริมการเชื่อมโยงตลาด/การทำ MOU ระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น การจัดการระบบ ขึ้นทะเบียนเกษตรกร/การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมในกระบวนการผลิตและแปรรูป การพัฒนาบรรจุภัณฑ์/การส่งเสริมการตลาด Online/ การส่งเสริมงานวิจัยเพื่อพัฒนาในด้านต่างๆ และการบริหารทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืน เช่น การรณรงค์และสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรงดเผาในพื้นที่เกษตร เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศ และ PM 2.5 / การรณรงค์ไถกลบตอซังข้าวเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน/ การขยายเขตชลประทานและบ่อน้ำขนาดเล็กในไร่นา เพื่อส่งเสริมให้การผลิตสินค้าเกษตรมีคุณภาพและผลผลิตมากขึ้น/ การส่งเสริมการปลูกพืชหลังนาและพืชใช้น้ำน้อย เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรหลังฤดูการทำนา
ด้านนายวิชัย ศรีโพธิ์งาม เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า จังหวัดศรีสะเกษการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดแบบบูรณาการ มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนบูรณาการร่วมกัน การขับเคลื่อนงานแบบบูรณาการ ตามบทบาทและภารกิจของแต่ละองค์กร โดยกำหนดแนวทางการพัฒนาให้ครบห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ได้แก่การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร จนส่งผลให้อัตราการขยายตัวเฉลี่ยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี จากข้อมูลปีล่าสุดจังหวัดศรีสะเกษ (ปี 2561 เทียบกับปี 2560) มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด 73,242 ล้านบาท สูงกว่าปีที่ผ่านมา 2,415 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.29 % โดยเป็นมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GPP) ภาคการเกษตร 21,206 ล้านบาท สูงกว่าในปีที่ผ่านมา 1,074 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.06 %

ข่าว/ภาพ…… บุญทัน ธุศรีวรรณ ศรีสะเกษ

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link