ราชบุรี ฮือฮาเสือลายเมฆ ครั้งแรกในหลายรอบปี ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี

ราชบุรี – ฮือฮา! พบ เสือลายเมฆ ครั้งแรกในรอบหลายปี ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าหนองยาว เขต.ภาชี เผย! พบเสือลายเมฆที่มีความสมบูรณ์ ในรอบหลายปี ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ชี้! พบรอยเท้าและมูลสัตว์หายากเพิ่มหลายชนิด แต่ยังขาดอุปกรณ์ในการสำรวจ พร้อมเชิญชวนกางเต็นท์ใกล้ชิดธรรมชาติ วันที่ 4 ม.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมหมาย พุฒน์กล่ำ พนักงานพิทักษ์ป่าส.3 หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าหนองยาว เขต.ภาชี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี รายงานว่า จนท.ชุดลาดตระเวนสำรวจและติดตามความหลากหลายทางสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หน่วยพิทักษ์ป่าหนองยาว เขต.ภาชี พบเสือลายเมฆ สัตว์ป่าคุ้มครองที่ใกล้จะสูญพันธุ์ในประเทศไทย ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี หลังเก็บกล้องดักถ่าย Camera Tap ซึ่งติดตั้งดักถ่ายไว้ระหว่างวันที่ 1 - 30 ธ.ค.64 โดยให้ป่าแถบนี้เคยพบแต่รอยเท้าและมูลสัตว์ ของเสือลายเมฆไม่เคยพบเห็นตัวเป็นๆมาก่อน จึงถือเป็นการค้นพบครั้งแรกในรอบหลายปี โดยเสือลายเมฆที่พบ มีความสมบูรณ์มาก คาคว่ามีน้ำหนักมากกว่า 20 กก. มีความยาวลำตัวมากกว่า 80 ซม. และมีความยาวหางมากกว่า 55 ซม. ถือเป็นการค้นพบที่สำคัญ และจากการลาดตระเวนสำรวจและติดตามความหลากหลายทางสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ของหน่วยพิทักษ์ป่าหนองยาว ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ยังพบมูลสัตว์หายากเพิ่มหลายชนิด เช่น เสือโคร่ง เสือดำ และวัวแดง รวมทั้งยังพบลูกละอง ละมั่ง เก้ง กวางป่า เกิดใหม่อีกด้วย นายสมหมาย พุฒน์กล่ำ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าหนองยาว เขต.ภาชี เปิดเผยว่า ได้พบเสือลายเมฆ จากการตั้งกล้องทิ้งไว้ในป่าจุดที่พวกตนลาดตระเวน ซึ่งการค้นพบเสือลายเมฆตัวนี้ มีความสมบูรณ์มากทั้งขนาดและรูปร่าง ซึ่งเสือลายเมฆเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ถือใกล้จะสูญพันธุ์แล้ว ปัจจุบันที่หน่วยพิทักษ์ป่าหนองยาว หมู่ที่ 3 ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง แห่งนี้ เป็นหนึ่งหน่วยพิทักษ์ป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ถือเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหนึ่งเดียวในมรดกโลก กลุ่มป่าแก่งกระจาน ที่ได้รับขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งใหม่ของไทย โดยหน่วยพิทักษ์ป่าหนองยาว มีพื้นที่รับผิดชอบมากกว่า 5 หมื่นไร่เศษ ปีนี้นอกจากเสือลายเมฆที่พบแล้ว ยังพบลูกละอง ละมั่ง เก้ง กวางป่า สัตว์หายากอีกหลายชนิด ประกอบด้วย เนื้อทราย ไก่ป่า นกยูงไทย รวมถึงนกเงือกตระกูลนกแก๊กด้วย ซึ่งหน่วยของเรามีหน้าที่เดินลาดตระเวน ไปรอบๆอุทยานแม่น้ำภาชีเขตที่เรารับผิดชอบจะดูแลและสำรวจทั้งสัตว์ ป่าไม้ แหล่งน้ำ โดยหน่วยพิทักษ์ป่าหนองยาว จะอยู่ติดกับสวนป่าสิริกิติ์หรือแก่งส้มแมว นายสมหมาย เผยต่อว่า ปัจจุบันทางหน่วยพิทักษ์ป่าหนองยาว เขต.ภาชี ได้ยืมกล้องดักถ่าย Camera Tap จากหน่วยงานอื่นมาใช้จำนวน 2 ตัว ซึ่งได้นำไปติดตั้งและสามารถจับภาพวีดีโอ เสือลายเมฆ จนสามารถให้กรมอุทยานแห่งชาติยืนยันได้ว่า ในพื้นที่ดังกล่าวมีเสือลายเมฆอาศัยอยู่จริง และยังพบรอยเท้าและมูลสัตว์ที่รอยืนยันอีก 3 ชนิดคือ เสือโคร่ง เสือดำ และวัวแดง แต่งทางหน่วยยังขาดกล้องดักถ่าย Camera Tap ในการนำไปติดตั้งดักถ่ายภาพสัตว์ทั้ง 3 ชนิด ซึ่งขณะที่ทางหน่วยได้เปิดบริการให้นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเที่ยวชม หรือจะมากางเต็นท์ ชื่นชมสัมผัสธรรมชาติและสัตว์ป่าแบบใกล้ชิด และร่วมทำกิจกรรมการอนุรักษ์ป่าไม้ ส่วนศูนย์การเรียนรู้เชิงธรรมชาติทางหน่วยยังเปิดให้บริการเหมือนเดิม ซึ่งหากนักท่องเที่ยวหรือหน่วยงานใด สนใจเข้ามาเที่ยวชม เราคิดค่าธรรมเนียมผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท หรืออยากจะมากางเต็นท์ที่หน่วย เราคิดบริการ 30 บาท โดยทางหน่วยจะมีลานกางเต๊นท์ ห้องน้ำ สิ่งอำนวยความสะดวกพอสมควร ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งสามารถติดต่อได้ที่เฟสบุ๊ก หน่วยพิทักษ์ป่าหนองยาว เขตภาชี ขณะที่จากการสำรวจของผู้สื่อข่าว ถือหน่วยพิทักษ์ป่าหนองยาว เขต.ภาชี เป็นหน่วยงานที่สำคัญในการสำรวจอนุรักษ์สัตว์ป่า ป่าไม้ พันธุ์พืช และแหล่งน้ำที่สำคัญ แต่หน่วยยังขาดแคลนสิ่งจำเป็นในการปฏิบัติงานหลายอย่าง โดยเมื่อ 9 ปีก่อนทางกระทรวงพลังงาน เคยมอบแผงโซล่าเซลให้กับทางหน่วย แต่ปีที่แล้วระบบแบตเตอรี่เก็บไฟจากโซล่าเซลล์มีปัญหา ไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งปกติทางหน่วยจะใช้ไฟฟ้าในการต้อนรับแขกที่เข้ามาศึกษาเรียนรู้เชิงธรรมชาติที่หน่วย และในช่วงที่มีการส่งงาน แต่ปัจจุบันทางหน่วยไม่มีไฟฟ้าใช้ และทางหน่วยยังขาดแคลนอุปกรณ์ในการเดินป่าลาดตระเวนสำรวจสัตว์ป่าและพันธุ์พืชหลายอย่าง จึงอยากเชิญชวนประชาชนให้การสนับสนุน โดยโทรสอบถามได้ที่เบอร์ 089-2251452 นายสมหมาย พุฒน์กล่ำ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าหนองยาว เขต ภาชี https://drive.google.com/file/d/1cI4Lo-dYSPhMyl8-F7xP-xEFaj9Wl686/view

สุจินต์ นฤภัย(เต้) จ.ราชบุรี

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link