TSPCA และเครือข่าย ยื่นหนังสือต่อสภาฯ เพื่อขอให้มีการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการปล่อยสัตว์ในวัดและที่สาธารณะ ยกเคสวัดดังย่านปากเกร็ด นนทบุรี

วันที่ 22 มิถุนายน 2565 สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศ ไทย สมาคมสงเคราะห์สัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์กรสิทธิสัตว์แห่งประเทศไทย มูลนิธิเอิร์ธ อเจนด้า ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยองค์กรเครือข่าย ยื่นหนังสือถึง นายสรซัด สุจิตต์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสิทธิสัตว์ เพื่อขอความอนุเคราะห์พิจารณาศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการปล่อยสัตว์ในวัดและที่สาธารณะและการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกรณีศึกษาวัดชลประทานรังสฤษดิ์ จังหวัดนนทบุรี โดยมีนายนิติพล ผิวเหมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรองคณะอนุกรรมาธิการฯ เป็นผู้รับมอบหนังสือ
ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศ ไทย และ นายทศพร กลั่นแก้ว ตัวแทนองค์กรสิทธิสัตว์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบว่าพื้นที่วัดและที่สาธารณะ ส่วนใหญ่ได้มีผู้นำสัตว์ มาปล่อยละทิ้งเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าสัตว์ป่า เช่น นก เต่า หมูป่า หรือจะเป็นสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมว ซึ่งจากการสำรวจของกรมปศุสัตว์เมื่อปี พ.ศ.2563 พบว่ามีสุนัขจรจัดทั่วประเทศ จำนวนกว่า 2.3 ล้านตัว เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2557 มีสุนัขจรจัดเพียง 7.3 แสนตัว หรือมีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว ในระยะเวลา 6 ปี และมีแนวโน้มจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการแพร่กระจายขยายพันธุ์ของสัตว์เป็นจำนวนมาก บางครั้งอาจจะสร้างความเดือดร้อนรำคาญ เป็นภาระกับทางพระภิกษุ สามเณร ในการปฏิบัติศาสนกิจรวมถึงประชาชนในพื้นที่รอบข้าง
อีกทั้งบางพื้นที่สาธารณะหรือวัด มีการจัดจำหน่ายทำธุรกิจการค้าชีวิตสัตว์ หรือไถ่ชีวิตเพื่อนำมาปล่อย ซึ่งจากการศึกษาและจัดทำข้อมูลของสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย พบว่าเฉพาะวงจรการค้าหรือการทำธุรกิจเกี่ยวกับการจับสัตว์มาปล่อยตามความเชื่อนั้น ปีหนึ่งๆจะมีมูลค่าวงจรทางธุรกิจหลาย 100 ล้านบาท ซึ่งธุรกิจดังกล่าวจะแพร่กระจายไปตามวัดที่มีชื่อเสียงและสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาสำคัญๆหรือที่สาธารณะทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมเพราะส่วนใหญ่จะเป็นการทำลายวงจรชีวิตสัตว์ตามธรรมชาติและเป็นการทารุณสัตว์อันไม่สมควร เช่น การปล่อยเต่า ในน้ำเชี่ยวที่ไม่มีตลิ่งให้เกาะเต่าก็จะตาย ปล่อยเต่าที่มีน้ำกร่อยหรือผิดน้ำจะทำให้เต่าตาบอดและตายเช่นกัน การปล่อยหอยขม ต้องอยู่ในที่ชื้นแฉะเช่นบึงคลองไม่ใช่แม่น้ำ การปล่อยปลาไหล ในน้ำไหลแรงปลาไหลก็อยู่ไม่ได้ หรืออาจช็อกในน้ำที่มีอุณหภูมิและสิ่งแวดล้อมแตกต่างจากที่เคยเติบโตมาได้ และที่สำคัญการปล่อยสัตว์นั้นอาจก่อให้เกิดการแพร่กระจายของโรคสัตว์และโรคสัตว์สู่คนได้ ปัจจุบันแม้มีพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 กำหนด มาตรา 23 ห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำการใด ๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร มาตรา 32 เจ้าของไม่ปฏิบัติหรือฝ่าฝืนมาตรา 23 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 12 ประกอบมาตรา 89 ได้กำหนดในการห้ามล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หรือการครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองตามมาตรา 17 ประกอบมาตรา 92 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีปรับไม่เกินห้าแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หรือแม้แต่การค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี ก็ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปีหรือปรับไม่เกินสี่แสนบาทหรือทั้งจำและปรับ แต่การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวยังไม่เด็ดขาดจริงจังเท่าที่ควรและสัตว์บางชนิดก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง

นอกจากปัญหาการนำสัตว์มาปล่อยแล้ว กิจกรรมที่เกี่ยวกับสัตว์ภายในวัด เช่น การไถ่ชีวิต นก เต่า ปลา โค กระบือ ก็ล้วนนำมาซึ่งปัญหา ถ้าการบริหารจัดการขาดความรู้ความเข้าใจหรือไม่ดีพอ ดังเช่น กรณี ที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการดูแลสัตว์ภายในวัดเป็นจำนวนมาก เช่น ล่าสุดวัดดังย่านปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย สมาคมสงเคราะห์สัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์และองค์กรสิทธิสัตว์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยองค์กรเครือข่าย ได้ลงพื้นที่ติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พบว่าการดำเนินการนั้นอาจจะเข้าข่ายการกระทำที่อาจจะไม่เหมาะสมและอาจเข้าข่ายการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่สมควรอีกด้วย
ดังนั้นสมาคมฯ พร้อมองค์กรเครือข่าย จึงมายื่นหนังสือ เพื่อขอให้ 1.มีการศึกษาวิเคราะห์ พร้อมจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการปล่อยสัตว์ในวัดและที่สาธารณะของประเทศไทย 2.เพื่อศึกษาปัญหาเกี่ยวกับการจัดการสัตว์ภายในวัดกรณีวัดต่างๆ เช่นวัดดัง ย่านปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ที่มีการร้องเรียนก่อนหน้านี้ และ 3.ขอให้มีการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ผ่านเลนส์ 005-รายงาน

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link