กอนช. เปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคอีสาน ที่จ.อุบลฯ

กอนช. เปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคอีสาน ที่จ.อุบลฯ
วันนี้ (8 ก.ย. 65) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 1/2565 โดยนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมประชุม ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่าผลิตแห่งประเทศไทย กรมทรัพยากรน้ำ และ GISTDA เข้าร่วม ณ สำนักงานชลประทานที่ 7 จ.อุบลราชธานี
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เปิดเผยว่า วันนี้เป็นพิธีเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จ.อุบลราชธานี ตามข้อสั่งการของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. เนื่องจาก อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และร่องมรสุม ในช่วงเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ที่ส่งผลให้พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบเหตุน้ำท่วมขัง และกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าจะยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากในช่วงเดือน กันยายน ถึง ตุลาคม 2565 ซึ่ง กอนช. ได้ประเมินฝนคาดการณ์ (ONE MAP) พบพื้นที่เสี่ยงมีโอกาสเกิดอุทกภัย บริเวณลุ่มน้ำชี – มูล ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ จึงได้มีคำสั่งจัดตั้งคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติงาน ณ ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ เพื่อทำหน้าที่บูรณาการ เชื่อมโยงข้อมูล คาดการณ์และวิเคราะห์สภาพอากาศ ปริมาณน้ำ พื้นที่น้ำหลาก และแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำในพื้นที่ พร้อมทั้งอำนวยการ บูรณาการ ติดตาม และตรวจสอบการบริหารจัดการน้ำ ร่วมกับกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บก.ปภ.ช.) และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแก้ไขสถานการณ์อุทกภัยให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว อีกทั้งยังทำหน้าที่อำนวยการ สั่งการ และประสานการปฏิบัติงานกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อร่วมกันป้องกัน แก้ไข บรรเทาผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ “พลเอก ประวิตร มีความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำที่จะกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงสั่งการให้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมอบหมายให้ สทนช. เป็นเจ้าภาพในการบูรณาการทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อบริหารจัดการมวลน้ำและช่วยเหลือประชาชน ตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 65 อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งเน้นย้ำให้มีการสร้างการรับรู้แก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือได้ทันสถานการณ์ ลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด พร้อมกันนี้ ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนโดยเร็ว ซึ่งเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เชื่อมโยงกับการช่วยเหลือมวลชนตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550”
ดร.สุรสีห์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ยังมีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นครั้งแรก เพื่อติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ และการคาดการณ์พื้นที่ประสบอุทกภัย รวมถึงการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ นอกจากนี้ ได้ร่วมพิจารณาแนวทางการปฏิบัติงานและการเตรียมความพร้อมภายใต้ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ เพื่อให้เกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานอย่างมีเอกภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี น้ำเอ่อล้นตลิ่งบริเวณที่ลุ่มต่ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือน และพื้นที่การเกษตร ส่งผลให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน จำนวน 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ เดชอุดม นาจะหลวย น้ำยืน ทุ่งศรีอุดม น้ำขุ่น ม่วงสามสิบ ตาลสุม เขื่องใน และอำเภอดอนมดแดง จำนวน 46 เทศบาล/ตำบล 242 ชุมชน/หมู่บ้าน แยกเป็น ด้านการดำรงชีพ ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี และอำเภอวารินชำราบ จำนวน 3 เทศบาล 17 ชุมชน/หมู่บ้าน 180 ครัวเรือน
ด้านนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้สั่งการให้นายอำเภอทั้ง 25 อำเภอ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง

ทีมข่าวเฉพาะกิจ / ข่าว.

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link