ปทุมธานี สอศ.ผลิตบัณฑิต ป.ตรี สายปฏิบัติการ รับปริญญา รุ่นที่ 2

ปทุมธานี
สอศ.ผลิตบัณฑิต ป.ตรี สายปฏิบัติการ รับปริญญา รุ่นที่ 2
การจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรีของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นการจัดการศึกษาในรูปแบบทวิภาคี ที่จัดการศึกษาร่วมกับสถานประกอบการชั้นนำที่ได้มาตรฐาน โดยใช้หลักสูตรที่แตกต่างจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วไป นั่นคือ หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต (Bachelor of Technology) ผู้ที่จบการศึกษาจะได้รับวุฒิการศึกษา สายเทคโนโลยีบัณฑิต อักษรย่อ ทล.บ. ซึ่งผู้ที่จบการศึกษาจะเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ มีสมรรถนะในการปฺฏิบัติ และพัฒนางานในระดับเทคโนโลยี สามารถปฏิบัติงานและเป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติงานได้ หรือประกอบอาชีพอิสระ และพัฒนาตนเองให้มีความก้าวหน้าทางวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเป็นผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรมในการประกอบอาชีพ และมีจิตอาสาในการช่วยเหลือสังคม
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นองค์กรภาครัฐ ที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตบุคลากร ตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ถึงระดับปริญญาตรี ที่มีความรู้ ทักษะฝีมือและความเชี่ยวชาญทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สายเทคโนโลยี จากสถาบันการอาชีวศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทั้ง 23 แห่ง ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2561 ซึ่งจัดขึ้น ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี โดยผู้มีที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ ประจำปีการศึกษา 2560 จำนวน 3,229 คน และมีผู้ที่จะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จำนวน 3,103 คน

และผลสำเร็จในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากแผนยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาด้านวิชาชีพของอาชีวศึกษา ให้ดำเนินการจัดการศึกษาต่อเนื่องได้ถึงระดับปริญญาตรี โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา ปี พ.ศ. 2551 ให้สถาบันการอาชีวศึกษาเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี มีเป้าหมายหลักในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้เป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม เป็นบัณฑิตนักเทคโนโลยีสายปฏิบัติการ ที่สอดคล้องกับความต้องการของกำลังคนของประเทศ
ทั้งนี้ ต้องการยกย่องให้เกียรติบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษา ได้ใช้ความรู้ความสามารถพัฒนาประเทศ โดยสถาบันเริ่มเปิดการสอนปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิตและรับนักศึกษาเข้าเรียนในปีการศึกษา 2556 ดำเนินการมาถึงปัจจุบันมีบัณฑิตสำเร็จการศึกษามาแล้วทั้งสิ้น 2 รุ่น รุ่นนี้มีบัณฑิตสำเร็จการศึกษาจำนวน 3,229 คน การสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจนได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตถือเป็นความสำเร็จเป็นความภาคภูมิใจของบัณฑิตและครอบครัว และการได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยิ่งเป็นเกียรติสูงสุด และเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องผลิตผู้สำเร็จการศึกษาออกไปประกอบอาชีพในสาขาต่าง ๆ มาเป็นเวลายาวนานต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษาพ.ศ. 2551 กำหนดให้มีสถาบันการอาชีวศึกษาซึ่งสามารถจัดการ
พิธีพระราชทานปริญญาบัตรเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศสยามสมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อ 88 ปีมาแล้ว ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระมหากษัตริย์ไทยทรงเห็นความสำคัญของพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่งว่าการพระราชทานปริญญาบัตรเป็นโอกาสเดียวที่พระองค์ได้ใกล้ชิดพสกนิกรมากที่สุด เห็นได้จากมือต่อมือจับกระดาษที่เดียวกันเป็นการส่งต่อพระบรมราชปณิธานให้แก่บัณฑิต สิ่งที่สั่งสมมาเกี่ยวกับพิธีพระราชทานปริญญาบัตรจึงทำให้เห็นว่า กษัตริย์ไทยทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาและทรงเห็นบัณฑิตทุกคนเสมือนผู้ทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ สมควรที่จะเชิดชู จงอยากให้บัณฑิตทุกคนตระหนักและซาบซึ้งในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
“สังคมดำรงอยู่ได้ด้วยการกระทำประโยชน์เกื้อกูลกัน และทุกคนที่อยู่ร่วมกันย่อมเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ประโยชน์ บัณฑิตในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม และเป็นบุคคลที่สังคมยอมรับในความรู้ความสามารถ จึงควรประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคมทุกเมื่อ” พระบรมราโชวาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2550

สมยศ แสมงณี / ปทุมธานี

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link