มท.1 ลงพื้นที่จ.อุบลฯ ตรวจติดตามการขับเคลื่อนแก้ปัญหาเร่งด่วนของรัฐบาล

วันที่29 มี.ค.66 เวลา 10.00 น. ที่ ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ต.แจระแม อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามการปฏิบัติราชการตามนโยบายรัฐบาลในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดย นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายเอกวิทย์ มีเพียร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายวสันต์ สุภาภา รองอธิบดีกรมที่ดิน นางสาวปาณิสรา กาญจนะจิตรา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ โดยมี นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วยนายสมเพชร สร้อยสะคู นางทรงลักษณ์ วรภัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พันเอก เถลิงศักดิ์ มูลประดับ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 พันตำรวจเอก สุรัตน์ ส่งเสริม รองผู้บังคับการตำวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รับการตรวจติดตามการปฏิบัติราชการ

โอกาสนี้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางถึง ได้ปลูกต้นเสม็ดแดง (เม็ก) บริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี โดยได้รับเมตตาจาก พระพิพัฒน์วชิโรภาส เจริญชัยมงคลคาถา จากนั้น เข้าสู่ห้องประชุมพรหมวรราช ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อประชุมติดตามนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ 1) การแก้ไขปัญหายาเสพติด 2) การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” 3) การขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนผ่านกลไกศูนย์ดำรงธรรม
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นการมาให้กำลังใจข้าราชการในพื้นที่ ซึ่งต้องขอขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และข้าราชการทุกท่านที่ช่วยดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ พื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายเกี่ยวกับแนวทางบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำชี มูล ซึ่งจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ที่ผ่านมา ในสมัยนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี 2562 เราได้พบปัญหา คือ ไม่มีที่เก็บน้ำ ดังนั้น ต้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำ ด้วยการหาแหล่งกักเก็บน้ำ ที่อยู่ของน้ำ โดยหาที่ราชพัสดุ หรือที่สาธารณะไว้กักเก็บน้ำ เพื่อสามารถบริหารจัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง บรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน”
พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าวต่ออีกว่า ในด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติด ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด ต้องเป็นผู้นำบูรณาการการทำงานเป็นทีม ใช้กลไกกองกำลังป้องกันชายแดน ตำรวจภูธร ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เสริมสร้างความร่วมมือพี่น้องประชาชน เพื่อปราบปราม Supply Side ของยาเสพติด และกำหนดมาตรการป้องกันเพื่อลด Demand Side ทั้งหมู่บ้านปลอดยาเสพติด การทำงานตามหลักบวร ฯลฯ รวมถึงมิติบำบัดรักษา และฟื้นฟูสภาพทางสังคมร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ และในด้านการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ต้องส่งเสริมองค์ความรู้ให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อย่างถ่องแท้ ไม่ใช่ทำเพียงเพราะเป็นนโยบายหรือเป็นแฟชั่น
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเรื่องการขับเคลื่อนงานศูนย์ดำรงธรรมเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ขอให้ได้พัฒนาช่องทางการบริการประชาชนโดยใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก และระบบแชทบอท เพื่ออำนวยความสะดวก ลดการเดินทางมาด้วยตนเองของประชาชน อันจะทำให้ภาครัฐสามารถเข้าถึงปัญหาได้รวดเร็ว ลงไปแก้ปัญหาให้ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และขอฝากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีรวมถึงข้าราชการในพื้นที่ทุกคนได้มุ่งมั่นในการบูรณาการการทำงานเป็นทีมเพื่อดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
ด้านนายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึง การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีที่ยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง สาเหตุเนื่องจากมีการลักลอบนำเข้ายาเสพติดบริเวณพื้นที่ชายแดนด้านที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นเส้นทางที่ขบวนการค้ายาเสพติดลักลอบนำเข้า ลำเลียง ยาเสพติดเข้ามาในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และตกค้างในพื้นที่จำนวนมาก โดยในปีงบประมาณ 2565 มีการจับกุมคดียาเสพติดในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งสิ้น จำนวน 5,005 คดี และในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 1,986 คดี และในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นา อุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ได้กำหนดทิศทางการดำเนินงานโดยการประเมินศักยภาพพื้นที่ต้นแบบ พื้นที่เป้าหมายเพื่อพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ “โคก หนอง นา พช. คุณภาพ 4,044 ศูนย์ ภายในปี 2568 และในด้านการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยกลไกลของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ได้รับเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2557 ถึงวันที่ 27 มีนาคม 2566 จำนวน 10,581 เรื่อง ยุติเรื่องแล้ว 10,542 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 99.63

ศูนย์ข่าวเฉพาะกิจจังหวัดอุบลราชธานี / ข่าว.

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link