สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ“ ตำรวจยุคใหม่ ทำสื่อให้โดนใจ ต้านภัยไซเบอร์” เพื่อระดมสมองข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ ในการต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ“ ตำรวจยุคใหม่ ทำสื่อให้โดนใจ ต้านภัยไซเบอร์”
เพื่อระดมสมองข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ ในการต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พลตำรวจเอก สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ/หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมสมองข้าราชการตำรวจทั่วประเทศในการผลิตสื่อสร้างสรรค์ เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และประชาสัมพันธ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในหัวข้อ “ตำรวจยุคใหม่ ทำสื่อให้โดนใจ ต้านภัยไซเบอร์” โดยมีวิทยากรในวงการโฆษณา ในวันพุธที่ 19 เมษายน 2566 ณ อาคารศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรและสวัสดิการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มี พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี
ทั้งนี้สืบเนื่องจาก ปัจจุบันภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้เกิดขึ้นจำนวนมาก ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน ได้รับแจ้งในระบบรับแจ้งความออนไลน์กว่าสองแสนคดี ความเสียหายกว่าสามหมื่นล้านบาท ส่งผลกระทบกับประชาชนอย่างมาก พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้มีนโยบายให้เร่งเสริมสร้างให้ตระหนักรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ ให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ให้มีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ ให้สามารถป้องกันตนเองมิให้ตกเป็นเหยื่อภัยดังกล่าวได้ หรือเรียกว่า เป็นการสร้าง“วัคซีนไซเบอร์” ให้กับประชาชน โดยมี พลตำรวจเอก รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ/ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางทางเทคโนโลยีสารสนเทศ และ พลตำรวจเอก สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ/รองผู้อำนวยการศูนย์ และหัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ซึ่งได้เล็งเห็นว่าการสร้างสื่อเพื่อเสริมสร้างการตระหนักรู้หรือรู้เท่าทันภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นเรื่องจำเป็น หากมีการสื่อสารที่ดี ย่อมมีการรับรู้ที่ดี และช่วยให้เกิดผลสำเร็จได้ง่ายยิ่งขึ้น ประกอบกับเทคนิคในการสื่อสารปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องทำสื่อให้โดนใจประชาชน เพื่อสามารถสร้าง การตระหนักรู้(Awareness) และให้การศึกษากับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย สร้างความรู้เท่าทันเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล (Digital Literacy) ให้กับประชาชน จะทำให้ประชาชนมีความรู้ทันกลโกงต่างๆ ของมิจฉาชีพในโลกออนไลน์ สามารถป้องกันตนเองให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นได้ จึงได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ครั้งนี้ขึ้น โดยเชิญข้าราชการตำรวจจากทุกหน่วยที่รับผิดชอบ ได้แก่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธรภาค 1- 9 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และคณะทำงานผลิตสื่อของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งสิ้น 141 นาย มาประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยมีวิทยากรหลากหลายท่านจากวงการโฆษณา มาร่วมเป็นวิทยากรในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ โดยใช้หัวข้อว่า “ตำรวจยุคใหม่ ทำสื่อให้โดนใจ ต้านภัยไซเบอร์” นอกจากนั้น การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้นอกจากจะเพิ่มศักยภาพในการผลิตสื่อของข้าราชการตำรวจแล้ว ยังต้องการระดมสมอง ให้ข้าราชการตำรวจคิดแคมเปญในการสื่อสารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อต้านภัยไชเบอร์ ที่สามารถใช้ได้ทุกช่องทาง (Platform) และให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง (Impact) ก่อให้เกิดความสำเร็จในการรณรงค์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ หรือ สร้างวัคซีนไซเบอร์ให้กับพี่น้องประชาชนได้สัมฤทธิ์ผลต่อไป

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link