ราชบุรี  – สาวเมืองโอ่งของแท้ อนุรักษ์การทำโอ่งมังกรแบบดั้งเดิมไม่ให้สูญหาย

ราชบุรี – สาวเมืองโอ่งของแท้ อนุรักษ์การทำโอ่งมังกรแบบดั้งเดิมไม่ให้สูญหาย

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี ร่วมกับโรงโอ่งเถ้าเจี่ยหลี 2 เร่งจัดเก็บข้อมูลมรดกภูมิปัญญาการผลิตโอ่งมังกรแบบดั้งเดิม ก่อนกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าขาน

วันที่ 5 ต.ค.61) สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี ได้มีการเข้าเก็บข้อมูลมรดกภูมิปัญญาการผลิตโอ่งมังกรแบบดั้งเดิม สานต่องานช่างฝีมือดั้งเดิมโอ่งมังกร มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ก่อนเลือนหาย กลายเป็นเพียงตำนาน โดยได้ร่วมกับ น.ส.โชติกา ประเสริฐ อายุ 30 ปี ผู้จัดการโรงโอ่งเถ้าเจี่ยหลี 2 สาวชาวราชบุรีแท้ ผู้มีความคิดมุ่งมั่นในการอนุรักษ์การผลิตโอ่งมังกรแบบดั้งเดิม เพื่อให้คงเอกลักษณ์ความเป็นโอ่งมังกรเมืองราชบุรี ไม่ให้สูญหายเป็นเพียงตำนาน

ทั้งนี้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้มีนโยบายให้ทางวัฒนธรรมร่วมจัดเก็บข้อมูลมรดกภูมิปัญญาด้านต่างๆ ที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมประจำจังหวัด โดยการผลิตโอ่งมังกรแบบดั้งเดิมภายในจังหวัดราชบุรี เริ่มมีการผลิตลดน้อยลง สืบเนื่องจากปัจจุบันวิถีชีวิตและสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้โอ่งมังกรได้รับความนิยมในการใช้สอยน้อยลงทุกที ซึ่งโรงโอ่งหรือผู้ประกอบการโอ่งมังกรในจังหวัดราชบุรี ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบในการผลิตภัณฑ์เพื่อการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้การผลิตโอ่งมังกรแบบดังเดิมเริ่มลดน้อยลงมากอย่างเห็นได้ชัด ทางวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี จึงได้มีการสำรวจโรงโอ่งหรือผู้ประกอบการโอ่งมังกร เพื่อเร่งจัดเก็บข้อมูลมรดกภูมิปัญญาการผลิตโอ่งมังกรแบบดั้งเดิมไม่ให้สูญหาย โดยได้รับความร่วมมือจาก โรงโอ่งเถ้าเจี่ยหลี 2 อ.เมือง จ.ราชบุรี และน.ส.โชติการ ประเสริฐ ผู้มีความคิดมุ่งมั่นในการอนุรักษ์การผลิตโอ่งมังกรแบบดั้งเดิม

โดย น.ส.โชติกา เปิดเผยว่า… ตนเองเป็นทายาทโรงโอ่งเถ้าเจี่ยหลี 2 ซึ่งจบ ปริญญาตรี คณะศิลปศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ สาขาท่องเที่ยว โรงแรม แต่เนื่องจากตนเองมีความผูกพันกับอาชีพการผลิตโอ่งมังกรมาตั้งแต่สมัยเด็กๆจนถึงปัจจุบัน ซึ่งตนเองมองเห็นว่าการผลิตโอ่งมังกรแบบดั้งเดิมเริ่มมีผลิตที่น้อยลงมากเนื่องจากผู้ใช้สอยในปัจจุบันเดิมไปใช้ภาชนะอย่างอื่นที่สะดวกสบายกว่า และมีนำหนักเบากว่า จึงทำให้ผู้ผลิตโอ่งมังกรหลายรายในจังหวัดราชบุรีเปลี่ยนรูปแบบการผลิตโอ่งมังกรเป็นไปในรูปแบบอื่นกันเกือบหมด และช่างผู้ผลิตโอ่งมังกรแบบดั้งเดิมก็เริ่มมีน้อยลงไปด้วย หลังจากที่ตนเองมาเป็นผู้จัดการโรงโอ่งเถ้าเจี่ยหลี 2 จึงมีการตกลงกันว่าจะคงผลิตโอ่งมังกรแบบดั้งเดิมจะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิต ถึงแม้ประสบปัญหาเรื่องการจำหน่ายก็ตาม เพื่อเป็นการรักษาอนุรักษ์เอกลักษณ์โอ่งมังกรแบบดั้งเดิมของจังหวัดราชบุรี ไม่ให้สูญหายไป ทั้งเป็นการอนุรักษ์ช่างฝีมือการผลิตโอ่งมังกรแบบดั้งเดิมไม่ให้หมดไปจากวงการการผลิตโอ่งมังกรด้วย

น.ส.โชติกา ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า… การผลิตเครื่องปั้นดินเผามีมาตั้งแต่สมัยรุ่นบรรพบุรุษ การทำโอ่งแต่ละใบยังคงรูปแบบเดิมเป็นลายมังกรเพื่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานให้ดูและยังเป็นเอกลักษณ์ทางของจังหวัดราชบุรีด้วยที่ว่าเป็นจังหวัดเมืองโอ่ง คือทุกวันนี้ทางเราที่ยังทำโอ่งแบบดั้งเดิมอยู่ คืออยากให้ลูกรุ่นหลานเด็กๆสมัยนี้ได้ดูได้เห็นวิธีการทำขั้นตอนการทำผลิตโอ่งแต่ละใบทุกใบเป็นงานแฮนเมด ของทางโรงงานยังเป็นงานแฮนเมดอยู่ และการที่เด็กได้ดูได้ศึกษาอาจจะมีการสืบต่อไปเรื่อยๆ สำหรับเด็กๆทุกคนที่ที่อยากให้มาดูเข้ามาชมที่นี่ก็เข้ามาได้นะคะ ถ้าน้องๆ ท่านไหนหรือว่าใครที่อยากเข้ามาชมนะค่ะ ก็มาได้ที่โรงโอ่งเถ้าเจี่ยหลี 2 เบอร์ติดต่อนะค่ะ 061-564-9399 ค่ะ

สำหรับการผลิตโอ่งมังกรแบบดั้งเดิมที่โรงโอ่งเถ้าเจี่ยหลี 2 ก็มีวิธีการผลิตโดยอาศัย 5 ขั้นตอนหลักคือ 1.นำดินเหนียวที่มีคุณสมบัติดี ที่สามารถปั้นเป็นโอ่งได้มาหมักในบ่อหมักแล้วแช่น้ำไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้น้ำซึมเข้าไปในเนื้อดินทำให้เนื้อดินอ่อนตัวและเป็นการล้างดินด้วย และนำมาเข้าเครื่องผสมดิน ต่อจากนั้นก็เข้าเครื่องโม่หรือเครื่องนวดดิน เพื่อให้เนื้อดินเข้ากัน ตัดดินให้มีขนาดพอเหมาะกับขนาดชิ้นงานที่จะปั้น 2.ขึ้นรูปส่วนฐานโอ่ง, ท้องโอ่ง และปากโอ่งโดยเมื่อปั้นเสร็จแต่ละส่วนต้องรอให้ส่วนนั้นแห้งก่อนจึงจะปั้นส่วนอื่นต่อไป โดยขั้นตอนนี้ทั้งหมดใช้เวลา 4-5 วัน เมื่อปั้นเสร็จแล้วจึงนำมาทุบให้ได้รูป 3.เมื่อได้รูปแล้วก็จะเข้าขันตอนการขึ้นลาย แยกเป็นลายของส่วนต่างๆ โดยวัสดุที่ใช้เขียนลายเป็นดินเนื้อละเอียดผสมกับดินขาวเรียกว่า ดินติดดอก มีสีนวล ช่วงปากโอ่งนิยมเขียนลายดอกไม้ หรือลายเครือเถา ช่วงลำตัวนิยมเขียนรูปมังกรมีทั้งมังกรดั้นเมฆ มังกรคาบแก้ว และมังกรสองตัวเกี่ยวกัน โดยช่างเขียนลายจะต้องเป็นผู้ที่ชำนาญมาก ส่วนช่วงเชิงล่างของโอ่ง ใช้วิธีการติดลายคล้ายกับส่วนปาก 4.นำไปเคลือบน้ำยาที่มีสูตรเฉพาะของแต่ละโรงผลิต โดยส่วนผสมส่วนใหญ่จะมีขี้เถ้าและน้ำโคลนหรือเลนและสีเล็กน้อย ส่วนใหญ่มีสีน้ำตาลเข้มการเคลือบจะนำโอ่งไปวางหงายในกระทะขนาดใหญ่ การเคลือบจะช่วยสมานรอยและรูระหว่างเนื้อดินเมื่อนำโอ่งไปใส่น้ำน้ำก็จะไม่ซึมออกมานอกโอ่ง 5.การเผาโอ่งทิ้งไว้ 2 วันโดยไม่ต้องเติมเชื้อไฟ จากนั้นนำออกมารอให้แห้ง 10 ถึง 15 ชั่วโมง เป็นอันเสร็จสิ้นในการทำโอ่งมังกร

อย่างไรก็ดี วัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีหลังจากจัดเก็บข้อมูลมรดกภูมิปัญญาการผลิตโอ่งมังกรแบบดั้งเดิมแล้วยังจะได้จัดทำการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้ที่มีความสนใจหรือสถานศึกษาที่มีความสนใจ ในการศึกษามรดกภูมิปัญญาการผลิตโอ่งมังกรแบบดั้งเดิม โดยได้จับมือกับโรงโอ่งเถ้าเจี่ยหลี 2 เพื่อเปิดให้ผู้ที่มีความสนใจได้เข้าเยี่ยมชม เพื่อเป็นการอนุรักษ์เอกลักษณ์ความเป็นโอ่งมังกรเมืองราชบุรี ไม่ให้สูญหายเป็นเพียงตำนาน

สุจินต์ นฤภัย (เต้)

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link