ราชบุรี  – วัดหลวงจัดประเพณีชักเรือแห่พระอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น และชมม้าเต้น

ราชบุรี – วัดหลวงจัดประเพณีชักเรือแห่พระอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น และชมม้าเต้น

วัดหลวง อ.บางแพ จ.ราชบุรี จัดประเพณีชักเรือแห่พระอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น แห่งเดียวในราชบุรี ชาวบ้านร่วมกันชักลากเรือทางบกแทนการล่องไปตามลำน้ำในสมัยโบราณ บรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนาน มีการร่ายรำ ฟันดาบ ม้าเต้น สร้างสีสันในงานประเพณีเกิดความรักความสามัคคีของคนในท้องถิ่น

วันที่ 26 ต.ค. 61) นายวีรัส ประเศรษโฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พร้อมด้วยนายอรรถพันธ์ สงวนเสริมศรี นายอำเภอบางแพ และพระครูสุธีธรรมวงศ์ เจ้าอาวาสวัดหลวง ต.วังเย็น อ.บางแพ จ.ราชบุรี ได้ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่จัดประเพณีชักเรือ แห่พระ เพื่อสืบสานและอนุรักษ์ประเพณีในท้องถิ่น หลังจากที่วัดหลวงร่วมกับชุมชนคุณธรรมได้น้อมนำแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้พัฒนาชุมชนท้องถิ่นขึ้น โดยชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจกันมาช่วยประดิษฐ์ผูกผ้าสีบริเวณเรือที่ได้มีการนำไม้เก่ามาแกะสลักอย่างสวยงาม มีการใช้ใบตาลที่อยู่ในท้องถิ่นมามุงหลังดา ใช้ทางมะพร้าวถักลวดลายโค้งรวมทั้งผ้าขาวม้ามาประดิษฐ์เป็นซุ้มเพื่อตกแต่งเรือบกสีสันสวยงาม บรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนาน มีการร่ายรำ ฟันดาบ ม้าเต้น สร้างสีสัน

สำหรับประเพณีชักเรือ แห่พระ ไม่ปรากฏอย่างชัดเจน เป็นแต่เพียงประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลความเชื่อทางศาสนา และประเพณีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยปรากฏหลักฐานเป็นพระพุทธรูปที่ใช้กระบวนแห่เป็นพระพุทธรูปศิลปะอยุธยาตอนกลาง-ตอนปลาย เดิมที่นั่นมักจัดกระบวนแห่กันในลำคลองอีจาง (ด้านหน้าอุโบสถ) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันแรม 2 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี เนื่องด้วยเป็นฤดูน้ำมาก เหมาะแก่การจัดกระบวนแห่ครื้นเครงในทางน้ำ บ้างร้องรำทำเพลง บ้างแข่งขันกันพายเรือ ไปตามประสาแต่ในปัจจุบัน ลำคลองตื้นเขิน และมีการสร้างสะพานกีดขวางลำน้ำ จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบกระบวนจากทางน้ำมาเป็นทางบกตราบมาจนถึงทุกวันนี้

สำหรับเรือย่าโขน เดิมที่ใช้ในกระบวนแห่ทางน้ำ เป็นเรือรูปสัตว์ แกะสลักเป็นรูปนกเจ่า (นกแก้ว) เป็นสมบัติคู่กับวัดหลวงมาช้านาน กลางลำเรือทอดบุษบก ขนาดกลางไว้ 1 หลัง สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปสองพี่น้อง ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดบางแพใต้ และได้จำลองดัดแปลงเรือลำใหม่ ชื่อว่า “เรือย่าศรีบุญพามี” ประกอบเข้ากับล้อและเชือกสำหรับลากจูงเข้ามาทดแทน

ประวัติหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธรูปสำคัญในเทศกาล เป็นพระพุทธรูปปางโปรดสัตว์ เรียกอีกอย่างว่า “ ปางอุ้มบาตร” ศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลาง – ตอนปลาย หล่อจากทองสำริด ฐานเป็นไม้มีห่วงสำหรับสอดคานหาม เพื่อสะดวกต่อการยก เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 1 ในสององค์ (องค์พี่) เรียกว่า หลวงพ่อสองพี่น้อง (องค์น้องอยู่ที่วัดบางแพใต้และได้สูญหายไป) ในปัจจุบันได้หล่อจำลององค์หลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 2 องค์ เพื่อทดแทน องค์จริงที่นำไปเก็บรักษาไว้

อย่างไรก็ตามบรรยากาศประเพณีชักเรือแห่พระวันนี้เป็นไปอย่างคึกคัก แม้จะมีฝนตกโปรยปรายลงมาเล็กน้อย แต่ชาวบ้านก็ไม่หวั่นไหว ช่วยกันดึงชักลากเรือที่มีพระพุทธรูปเก่าแก่ประดิษฐานอยู่บนเรือเพื่อเคลื่อนออกไปตามถนนสายต่างๆแล้วจึงแห่กลับเข้าวัด โดยปีนี้มาแปลกกว่าทุกปี มีการนำม้านับสิบตัวมาเต้นเหยาะ ๆ หรือ ม้าย่อง ไปตามจังหวะดนตรี มีคุณยาย คุณป้า คุณลุง และเด็กๆหลายคนได้เข้ามาร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก มีการจัดขนมโบราณหลากหลายชนิดใส่สาแหรกหาบเข้าร่วมขบวนเหมือนในสมัยโบราณ โดยเฉพาะคุณยายคนหนึ่งที่ไอเดียสร้างสรรค์คิดสร้างเรือเป็นของตัวเองคนเดียว คนอื่นไม่สามารถไปได้ เป็นเรือลำเล็กๆที่เขาเรียกว่าเรือบก พอจังหวะเพลงขึ้นเท่านั้นคุณยายก็จะร่ายรำเต้นไปตามจังหวะเสียงเพลงเดินนำขบวนเรือ โดยใช้เท้าเดินแทนการล่องไปตามลำน้ำเหมือนอย่างในสมัยโบราณ ซึ่งที่วัดหลวงแห่งนี้ถือได้เป็นวัดแห่งเดียวในราชบุรีที่มีประเพณีชักเรือแห่พระเกิดขึ้น ถือเป็นการอนุรักษ์ประเพณีมีมาแต่โบราณให้คงอยู่ไว้คู่กับลูกหลานได้รู้จักเรียนรู้และร่วมกันรักษาไว้

สุจินต์ นฤภัย (เต้)

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link