อย. ร่วมกับ ศปอส.ตร. เผยผล “ปฏิบัติการทรามาดอล” พร้อมเรียกผู้เกี่ยวข้องสอบเข้ม ป้องปรามการนำมาใช้ในทางที่ผิด

อย. ร่วมกับ ศปอส.ตร. เผยผล “ปฏิบัติการทรามาดอล” พร้อมเรียกผู้เกี่ยวข้องสอบเข้ม ป้องปรามการนำมาใช้ในทางที่ผิด
อย. ร่วมกับ ศปอส.ตร. แถลงผลงาน “ปฏิบัติการทรามาดอล” พร้อมออกหมายเรียกผู้ดำเนินกิจการและเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการประจำร้านขายยาที่เกี่ยวข้องมาสอบสวนเพิ่มเติม หากพบการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 จะดำเนินคดีตามกฎหมายและสั่งพักใช้ใบอนุญาต ส่วนเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการประจำร้านขายยา หากเกี่ยวข้องในเรื่องการส่งเสริมให้มีการใช้ยาในทางที่ผิด จะส่งสภาเภสัชกรรมพิจารณาจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ พร้อมกันนี้ อย. ได้มอบโล่รางวัลและเกียรติบัตรเพื่อเชิดชูเกียรติให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการที่ 16 ที่ปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็งในการคุ้มครองประชาชนอีกด้วย
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2561 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วย นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ เภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล ที่ปรึกษา อย. ร่วมกับศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำทีมโดย พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล ผบช.สตม.พร้อมด้วย พ.ต.อ.ธีระเดช ธรรมสุธี , พ.ต.ท.ภูริส จินตรานันท์ เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) ได้ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 “ปฏิบัติการทรามาดอล” ที่ผ่านมา ได้ตรวจค้น สถานที่ผลิตยา โรงงาน ของ บริษัท เอช.เค. ฟาร์มาซูติคอล จำกัด ตั้งอยู่ที่ 95 หมู่ 4 ซอยคลองมะเดื่อ 13 ถนนเศรษฐกิจ ตำบลคลองมะเดื่อ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร และสถานที่ขายยาบริษัท เอช.เค.เมดิซีน จำกัด เลขที่ 12
ถ.ชักพระ แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งจากการตรวจค้นพบยาแคปซูลสีเขียวเหลืองที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา ซึ่งเป็นทรามาดอล มีชื่อการค้า

“TRADOL” (ทราดอล) นำไปใช้เป็นส่วนประกอบ 4 x 100 นอกจากนี้ ยังพบเอกสารการซื้อขายไปยังร้านขายยาหลายแห่งทั่วประเทศ ในวันนี้ จึงได้ออกหมายเรียกผู้ดำเนินกิจการและเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการประจำร้านขายยาที่เกี่ยวข้องมาเพื่อดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม หากพบการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 จะดำเนินการตามกฎหมายและจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพต่อไป พร้อมกันนี้ อย. ได้มอบโล่รางวัลและเกียรติบัตร เพื่อเชิดชูเกียรติให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการที่ 16 ที่ร่วมกันปฏิบัติการทรามาดอลอย่างเข้มแข็ง เพื่อคุ้มครองประชาชนอีกด้วย
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวต่อไปว่า ขอเตือนร้านขายยาให้ระมัดระวังการซื้อขายยาทรามาดอล ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยผู้ผลิตขายให้กับร้านขายยาได้ ไม่เกิน 1,000 แคปซูล/เดือน/ร้าน และทางร้านต้องขายให้กับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นทางการแพทย์เท่านั้น ไม่เกินครั้งละ 20 แคปซูล ต่อราย และให้เภสัชกรประจำร้านเท่านั้นเป็นผู้ที่จัดส่งมอบยา ข้อสำคัญ ห้ามจำหน่ายยาให้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี ในทุกกรณี รวมทั้งให้ผู้รับอนุญาต และเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ ต้องจัดทำบัญชีรายชื่อยาและบัญชีการขายยาให้เป็นจริง ถูกต้อง และเป็นปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน ต้องไม่ซื้อยาทรามาดอลที่ ผิดกฎหมายมาขายจาก กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่ยกเลิกทะเบียนตำรับยา มี 3 ทะเบียนตำรับ ได้แก่ แพคมาดอล (PACMADOL) เลขทะเบียนตำรับยา 1A 1065/44 และ 1A 435/56 และ ทินดอล (TINDOL) เลขทะเบียนตำรับยา 1A 158/52 หากพบจะเข้าข่ายขายยาปลอม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา เช่น ยี่ห้อ TRADOL , SOS และ P 50 หากพบจะเข้าข่ายขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ อย. มีระบบการควบคุมยาทรามาดอล ซึ่งจัดเป็นยากลุ่มที่มีความเสี่ยงในการกำหนดผู้นำเข้าวัตถุดิบ ผู้ผลิต เมื่อมีการนำเข้าและผลิต ต้องรายงานผ่านระบบออนไลน์มายัง อย. ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตครั้งนี้ไม่ได้รั่วไหลจากระบบการควบคุมของ อย. แต่มาจากกลุ่มที่ลักลอบนำเข้าวัตถุดิบมา ลักลอบผลิตและลักลอบจำหน่ายโดยไม่ได้รายงานผ่านระบบตามที่ อย.กำหนด จึงขอให้ผู้บริโภคมั่นใจการดำเนินงานของ อย. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะผนึกกำลังร่วมมือกันปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคอย่างเข้มแข็ง
ด้านนายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวในตอนท้ายว่า ทรามาดอล เป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการปวดชนิดรุนแรงหรือปวดเรื้อรัง มีโครงสร้างสัมพันธ์กับโคเดอีน มอร์ฟีน อาการไม่พึงประสงค์ พบได้ตั้งแต่ ไม่รุนแรง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก มือสั่น ใจสั่น ความดันโลหิตต่ำ มึนงง ง่วงซึม ประสาทหลอน จนถึงรุนแรงระดับนำไปสู่การเสียชีวิต เช่น ชัก กดศูนย์การหายใจของร่างกาย ซึ่งจะมีอาการแสดงในหลาย ๆ ระบบของร่างกายพร้อมกัน เช่น กล้ามเนื้อลายสลาย กล้ามเนื้อเกร็ง กระตุกร่วมกับความดันโลหิตสูง และประสาทหลอน ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้โดยไม่รักษาจะนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด จึงขอย้ำเตือนไปยังผู้ปกครองหมั่นสอดส่องดูแลบุตรหลาน อย่าได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการใช้ยาในลักษณะดังกล่าว และฝากถึงประชาชนผู้บริโภคช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบร้านขายยาใดลักลอบขายยาทรามาดอลให้แก่เยาวชน หรือ ขายยาโดยไม่มีเภสัชกรประจำร้าน ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556 หรือที่ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือร้องเรียน ผ่าน Oryor Smart Application หรือ ตรวจเช็ค ผ่าน Application “ตรวจเลข อย.” เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจเบื้องต้นให้กับผู้บริโภคก่อนการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือ Line @Fdathai หรือ ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด และ สามารถเดินทางมาร้องเรียนด้วยตนเองที่ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) ได้ทุกวันในเวลาราชการ หรือร้องเรียนได้ที่ 1155 ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) เพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
อนึ่งโดยในวันนี้ได้มีผู้ปกครอง เยาวชนที่เคยได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจากการที่เยาวชนใช้ ยาทรามาดอลผิดวัตถุประสงค์ มาให้ข้อคิดและผลเสีย,ผลกระทบที่มีต่อร่างกาย เพื่อให้ประชาชนและเยาวชนรวมถึงร้านขายยา ต่างๆ ทราบ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและเยาวชนต้องใช้ยาทรามาดอล ตามใบสั่งของแพทย์เท่านั้น

ขอบคุณข้อมูลข่าวสาร ที่มา พ.ต.ต.หญิงพัชรี ศรีเผือก สว.ฝอ.5 บก.อก.สตม.

ทีมข่าวเรื่องจริงผานเลนส์รายงาน

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link