4 ปี พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557

4 ปี พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557

โดย ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ก่อนมีพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 การกระทำการทารุณกรรมสัตว์นั้นเป็นความผิดกฎหมายของไทยตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2452 และในประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้ในปัจจุบัน พ.ศ.2499 เช่น ม.381 ทารุณสัตว์ ม.382 ใช้สัตว์ทำงานเกินควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากการทารุณกรรมสัตว์แล้ว ลักษณะของ “สัตว์”นั้นเป็นเพียงแค่ “ทรัพย์” ของมนุษย์ตาม ปพพ.เท่านั้น หากมีผู้ใดทำให้เสียหาย เสื่อมค่าไร้ประโยชน์ เป็นการกระทำต่อสัตว์ของตนเอง หรือสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ผู้กระทำนั้นย่อมไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

เมื่อมีพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2557 สัตว์ก็ได้รับรองคุ้มครองสัตว์ไม่ให้สัตว์ได้รับการทารุณกรรม ทั้งสัตว์ที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของด้วย ซึ่งกำหนดห้าม มิให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามม.20 ถ้ากระทำฝ่าฝืนดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ก็มีข้อยกเว้น โดยให้ถือว่าการกระทำต่อไปนี้ ไม่ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามม. 21 มีอยู่ 11 ข้อนั้น

4 ปี พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีการบังคับใช้กฎหมาย ด้วยการร้องทุกข์กล่าวโทษ กว่า 1,000 กรณีและที่สำคัญมีคำพิพากษาตัดสินในกรณีต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 50 คดี จากผลสำรวจที่สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศ ไทย (TSPCA) ในฐานะผู้นำภาคประชาชนในการผลักดันพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ได้เสนอให้ทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหา วิทยาลัยมหิดล ดำเนินการรวบรวมความคิดเห็นเพื่อเริ่มต้นประเมินและติดตามผลการบังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน พบว่า ประชาชนรับรู้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว แต่ขาดความเข้าใจ (56.33%) โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ที่ยังไม่ทั่วถึง และมีการรับรู้กฎหมายเฉพาะบางกลุ่ม สะท้อนจากคดีฟ้องร้องหรือผู้ที่ให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าว (53.52%) ที่สำคัญควรเพิ่มช่องทางการสื่อสารไปยังประชาชน เพื่อปลูกจิตสำนึกในเรื่องการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ (40.84%) ผู้บังคับใช้กฎหมายยังไม่เข้าใจกฎหมายอย่างชัดเจน (39.43%) ไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว (26.76%) ประชาชนส่วนใหญ่คิดเห็นว่าข้อกำหนดใน พ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้ ให้ความคุ้มครองสัตว์มากเกินไป (26.67%) ด้านความตระหนักรู้และการปฏิบัติตามกฎหมาย คือ ประชาชนขาดการตระหนักรู้ ส่งผลให้การปฏิบัติไม่เป็นไปตามที่ควรหรือการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง เช่น การปล่อยสัตว์เลี้ยงตามสถานที่สาธารณะ เป็นต้น รวมถึงการไม่คำนึงถึงกฎหมาย และใช้ความรู้สึกในการปฏิบัติ (47.88%) ขาดความแม่นยำและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดของผู้บังคับใช้กฎหมาย (39.43%) โดยควรสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน โดยการประชาสัมพันธ์และมีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น (28.16%) ควรให้ปลูกจิตสำนึกและให้ความรู้ในเรื่องกฎหมายแก่เยาวชน (26.76%) เสนอให้มีการทำสื่อในรูปแบบภาพเคลื่อนไหวเพื่อเพิ่มการรับรู้และสื่อสารไปยังประชาชน (26.76%) เป็นต้น

ที่ผ่านมาสำหรับกรณีที่เกิดขึ้นกับสัตว์ นอกจากจะมี พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์พ.ศ.2557 แล้ว ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ มาบังคับใช้ร่วมกัน เช่น
1. กรณีสัตว์ที่มีเจ้าของไปสร้างความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือทรัพย์สิน เจ้าของต้องรับผิดชอบตาม ป.อาญา ม.377 ถ้าผู้ควบคุมสัตว์ดุหรือสัตว์ร้าย ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นเที่ยวไปโดยลำพังในประการที่อาจจะทำอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งถ้าพิสูจน์ได้ว่าเจ้าของปราศจากความระมัดระวังทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายไม่มากจะมีโทษตาม ม. 390 ฐานประมาทจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บทั้งกายและใจ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท แต่ถ้าเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จะผิดตาม ป.อาญา ม.300 ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เช่น ฎีกาที่ 3435/2527 ช้างเป็นสัตว์ใหญ่เมื่อกำลังตกมันเป็นสัตว์ดุ จำเลยไม่ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด เพียงใช้เชือกผูกไว้ จึงกระทำโดยประมาทและเป็นเหตุโดยตรง ให้ผู้เสียหายถูกช้างของจำเลยแทงด้วยงาได้รับอันตรายสาหัส จำเลยมีความผิดตาม ป.อาญา ม.300 และการกระทำของจำเลยดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยปล่อยปละละเลยให้ช้างเที่ยวไปตามลำพัง เป็นความผิดม.377 อีกบทหนึ่งด้วย และถ้ากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จะมีความผิดตามม.291 โทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับ ปพพ. ม. 433 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ เจ้าของสัตว์จำต้องชดใช้ค่าเสียหาย ให้แก่ฝ่ายที่เสียหายจากสัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงสัตว์นั้น เช่น เหตุการณ์เกิดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต ผู้เสียหายกำลังจะเดินไปซื้อของ ไม่ทันเห็นสุนัขที่ผูกล่ามไว้ ทำให้สุนัข 2 ตัว กระโดดมารุมกัดที่ขา ผู้เสียหายล้มตกลงไปในช่องคูน้ำ โทรศัพท์ iPhone X ตกแตก เจ้าของไม่รับผิดชอบความเสียหาย อีกทั้งยังท้าทายให้ผู้เสียหายไปฟ้องร้องต่อศาลเอง ผู้เสียหายฟ้องร้องคดีทางแพ่ง ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ให้เจ้าของสุนัขชดใช้เป็นเงินจำนวน 109,576 บาท ให้แก่ผู้เสียหาย แต่เจ้าของสุนัขขอยื่นอุทธรณ์ และล่าสุดเดือนธันวาคม 2561 อุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ส่วนคดีอาญาจำเลยวางเงินเพื่อบรรเทาความเสียหายต่อศาลจำนวน 20,000 บาท
2. กรณีสุนัขจรจัด ไปสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น ศาลปกครองสูงสุด ก็เคยมีคำวินิจฉัยตัดสิน ให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบดูแลสัตว์จรจัดชดใช้ค่าเสียหายให้เอกชน เช่น คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.1751/2559 กรณีเจ้าของฟาร์มนกกระจอกเทศ อ้างว่าสุนัขจรจัดที่อาศัยอยู่ที่บ่อขยะนั้น เป็นความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบล ศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่า องค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจหน้าที่ ในการจัดการดูแลสุนัขจรจัด ซึ่งถือว่าสุนัขเป็นสัตว์ควบคุมตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ 2535 สัตว์จำต้องมีเครื่องหมายประจำตัว เมื่อพบเห็นแล้วโดยไม่ปรากฎเครื่องหมายประจำตัวสัตว์เจ้าพนักงานท้องถิ่นย่อมมีอำนาจจับสัตว์ควบคุมนั้นเพื่อกักขัง ถ้าไม่มีเจ้าของรับคืนภายใน 5 วัน ให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจทำลายสัตว์ควบคุมนั้นได้ ตาม ม.9 แต่ไม่ดำเนินการในการควบคุมสุนัขจรจัด เพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชนในท้องถิ่น หรือเพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากสัตว์ หรือเพื่อป้องกันระงับโรคติดต่อ หรือบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือเพื่อบำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎรในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ตามม.67 และ ม. 68 แห่ง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 ให้ราชการผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้กับเอกชนผู้ฟ้องคดีนั้น

3. การนำช้างมาเร่ร่อนตาม พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 มีคำพิพากษาฎีกา ที่ 2875/2561 วันที่ 16 พ.ค. 2561 พนักงานอัยการคดีศาลแขวงสระบุรี เป็นโจทก์ ฟ้องความผิดจำเลยนำช้างมาเร่ร่อนออกขายอ้อยที่บริเวณตลาด จังหวัดสระบุรี โดยไม่ได้รับอนุญาตจากสัตวแพทย์ประจำท้องที่ต้นทาง ให้ลงโทษจำเลยจำคุกและปรับจำเลย และให้ริบช้างตกเป็นของแผ่นดิน

4.กรณีนำช้างมาเร่ร่อนและตกท่อจนโดนไฟดูดตาย ศาลแขวงสมุทรปราการ ได้มีคำพิพากษาที่ 7850/2561 ว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499 ม.34,49 พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ 2535 ม.46,73/1 พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ม.20,31 ป.อาญา ม. 381,382 ประกอบม.83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ม. 91 ฐานร่วมกันเคลื่อนย้ายสัตว์ไปยังท้องที่ต่างจังหวัดโดยไม่มีใบอนุญาต จำคุก 2 เดือน และปรับ 4,000 บาท ฐานร่วมกันเลี้ยงสัตว์บนไหล่ทางโดยไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ ปรับ 2000 บาท และฐานร่วมกันใช้งานสัตว์ทำงานเกินสมควร หรือให้ทำงานอันไม่สมควรกับฐานร่วมกระทำการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่สมควร เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งกฎหมายที่มีบทลงโทษหนักที่สุด ตามป.อาญา ม.90 จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท รวมจำคุก 1 ปี 2 เดือน และปรับ 16,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามป.อาญา ม. 78 คงจำคุก 7 เดือน และปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี ตามป.อาญา ม.56 กฎหมายจึงเป็นเรื่องของหลักการที่ทุกคนต้องทราบและต้องถือปฏิบัติอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน และที่สำคัญควรใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการอำนวยความยุติธรรม ในการต่อสู้กับเจตนาร้ายที่คนมีต่อสัตว์เท่านั้น กรณีตัวอย่างการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวก็จะเป็นอุทาหรณ์และบรรทัดฐานทางสังคม ในเรื่องการเลี้ยงสัตว์ที่เจ้าของสัตว์จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ พร้อมทั้งต้องมีความรับผิดชอบทั้งต่อตัวสัตว์เองและผู้อื่นอีกด้วย

ผ่านเลนส์ 005-รายงาน

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link