เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมแถลงผลการดำเนินงาน ศาลยุติธรรมทั่วประเทศและสำนักงานศาลยุติธรรม ปี 2561 พร้อมประกาศตั้งเป้าเป็น D-court ในปี 2563

วันนี้ (18 มกราคม 2562) เวลา 10.45 น. นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงาน
ศาลยุติธรรม แถลงผลการดำเนินงานของศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรมในภาพรวม ประจำปี พ.ศ. 2561 ระหว่างเดือนมกราคม – ธันวาคม 2561 ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักงานศาลยุติธรรม อาคารศาลอาญา ชั้น 12 โดยเปิดเผยสถิติคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ จำนวน 1,883,228 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 1,660,252 คดี คิดเป็นร้อยละ 88.16 ขณะที่มีคดีที่เข้าสู่
การพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ จำนวน 60,191 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 54,049 คดี คิดเป็นร้อยละ 89.79 ส่วนในชั้นศาลฎีกา รับพิจารณาคดี จำนวน 23,119 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ จำนวน 16,883 คดี คิดเป็นร้อยละ 73.02 รวมทั้ง 3 ชั้นศาลแล้ว มีคดีศาลรับพิจารณาไว้ทั้งสิ้น 1,966,538 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 1,731,184 คดี คิดเป็นร้อยละ 88.03
ทั้งนี้ สถิติคดีทั้งหมดที่เข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ แบ่งเป็นคดีแพ่ง จำนวน 1,245,716 คดี คิดเป็นร้อยละ 66.15 คดีอาญา จำนวน 637,512 คดี คิดเป็นร้อยละ 33.85โดยจำนวนข้อหาที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศสูงสุด 5 อันดับ (เฉพาะคดีที่รับใหม่
ในปี 2561) ได้แก่ 1) พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ 344,849 ข้อหา 2) สินเชื่อบุคคล 258,008 ข้อหา
3). พ.ร.บ. จราจรทางบก 181,933 ข้อหา 4) บัตรเครดิต 169,897 ข้อหา 5) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 166,659 ข้อหา
ส่วนการดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ สามารถดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 150 เรื่อง คิดเป็นทุนทรัพย์ 105,414,884,005.69 บาท
สำหรับโครงการส่งเสริมการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของบุคคลมาใช้ในการปล่อยตัวชั่วคราว (Electronic Monitoring) หรือที่เรียกว่า อุปกรณ์ EM
ในปัจจุบันมีศาลที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 164 ศาล และมีการติดตั้งอุปกรณ์ไปแล้วเป็นจำนวนทั้งสิ้น 6,521 ครั้ง โดยประเภทคดีหรือฐานความผิดที่มีการติดอุปกรณ์ EM มากที่สุด 6 อันดับ ได้แก่ 1) พ.ร.บ.
ยาเสพติดให้โทษ ร้อยละ 37 2) ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ร้อยละ 21 3) พ.ร.บ.จราจรทางบก ร้อยละ 16 4) ความผิดอื่นๆ เช่น ความผิดเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ, พ.ร.บ.เช็ค ร้อยละ 13 5) ความผิดเกี่ยวกับชีวิตร่างกาย ร้อยละ 8 6) พ.ร.บ.อาวุธปืน ร้อยละ 5 ในส่วนของการใช้อุปกรณ์ EM ในการคุมประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 มีการสั่งใช้อุปกรณ์ EM ทั้งสิ้นจำนวน 13 ครั้ง ใน 5 ศาล
ในด้านของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการคดี เพื่อให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมรวดเร็วขึ้น ง่ายขึ้น และเสียค่าใช้จ่ายน้อยลงตามนโยบายประธานศาลฎีกา
ศาลยุติธรรมจึงได้พัฒนาระบบงานด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้สนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรมและให้บริการประชาชน อาทิ
– ระบบยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสารโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) เพื่อให้คู่ความสามารถยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสารโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ต้องเดินทางมาศาล โดยในปัจจุบันได้เปิดให้บริการ จำนวน 19 ศาล สถิติการใช้งานระบบ ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2560 – 15 มกราคม 2562 พบว่า มีทนายลงทะเบียน Online จำนวน 1,070 คน ยื่นฟ้องผ่านระบบ จำนวน 1,178 คดี (ศาลแพ่งมีการยื่นฟ้องมากที่สุด 407 คดี) และมีการชำระเงินผ่านระบบ e-Payment เป็นยอดเงินรวม 11,723,719.71 บาท
– ระบบส่งเอกสารและประกาศนัดไต่สวน โดยวิธีการลงโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-notice) เปิดให้บริการข้อมูลการประกาศนัดไต่สวนผ่านทางเว็บไซต์แทนการประกาศทางหนังสือพิมพ์ เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และสามารถลดเวลาและค่าใช้จ่ายของประชาชนลงได้ โดยสถิติการใช้งาน ระบบ e-notice ณ วันที่ 15 มกราคม 2562 พบว่า มีประกาศที่ลงในระบบ e-Notice จำนวน 9,928 ประกาศ ประหยัดค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนได้ 4,964,000 บาท นอกจากนี้ การประกาศในระบบ e-Notice ยังเร็วกว่าประกาศหนังสือพิมพ์และลดระยะเวลาในการปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 44,676 วัน
– ระบบบริการข้อมูลคดีศาลยุติธรรม (Case Information Online Service : CIOS) ซึ่งเปิดให้บริการที่ศาลยุติธรรมทั่วประเทศ โดยมีจำนวนผู้ลงทะเบียนเข้าใช้งานระบบ ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2561 จนถึงวันที่ 15 มกราคม 2562 จำนวน 1,240 คน แบ่งเป็น ทนายความ จำนวน 1,107 คน คู่ความ จำนวน 133 คน และจำนวนคดีที่ทนาย/คู่ความร้องขอเพื่อติดตามข้อมูลคดี จำนวน 6,929 คดี
– ระบบเชื่อมโยงข้อมูลหมายบังคับคดีกับกรมบังคับคดีผ่าน Web Service ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับหมายบังคับคดีกับกรมบังคับ จำนวน 3 ศาล ได้แก่ ศาลแพ่ง ศาลแพ่งธนบุรี และศาลแพ่งกรุงเทพใต้
– การเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์กับกรมคุมประพฤติ เพื่ออำนวยความสะดวกในการสั่งสืบเสาะและพินิจจำเลย โดยมีหน่วยงานที่ดำเนินการแล้ว จำนวน 246 ศาล
นอกจากนี้ ยังมีระบบการบันทึกการพิจารณาคดีโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Hearing Recording System) ระบบถอดแถบเสียงคำเบิกความพยานจากระบบบันทึกการพิจารณาคดี (Transcribing System) ระบบสืบพยานทางไกลผ่านจอภาพ (Teleconferencing System) ระบบการนำเสนอพยานหลักฐานผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic resentation System) ระบบควบคุมห้องพิจารณาคดี (Electronic Control System) ระบบสืบพยานทางจอภาพเพื่อลดการเผชิญหน้า (Reduce Confrontation System) ระบบสืบค้นข้อมูลเขตอำนาจศาล ระบบบูรณาการข้อมูลคดีศาลยุติธรรม และการปักหมุดตำแหน่งสถานที่ราชการ และการยกเลิกสำเนาบัตรประชาชนในการติดต่อราชการศาลยุติธรรม
ด้านการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม สำนักงานศาลยุติธรรมได้จัดทำกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นทางกฎหมายมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญ และการเสนอร่างกฎหมายที่สำคัญๆ หลายฉบับ อาทิ
– ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (กำหนดหลักเกณฑ์การไต่สวนมูลฟ้อง หลักเกณฑ์ การยื่นอุทธรณ์ และค่าธรรมเนียม) ขณะนี้อยู่ระหว่างรอประกาศ
– ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราว และการใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีอาญา) ขณะนี้อยู่ระหว่างรอประกาศ
– ระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง พ.ศ. 2561 ลงประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 87 ก วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561
– ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ว่าด้วยการพิจารณาและวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ลงประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 5 ก วันที่ 9 มกราคม 2562
– ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ว่าด้วยการพิจารณาและวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือก การดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกและการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสิทธิเลือกตั้งในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ลงประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 99 ก วันที่ 23 พฤศจิกายน 2561
ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติเจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. …. หรือ Court Marshal อยู่ระหว่างการประชุมกรรมาธิการ
เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมถึงการจัดตั้งศาลใหม่เพื่อกระจายความยุติธรรมและเพิ่มประสิทธิภาพในการพิจารณาคดี โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 มีการจัดตั้งศาลใหม่ จำนวน
2 ศาล ได้แก่ ศาลแขวงภูเก็ต และศาลแขวงระยอง และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เตรียมจะเปิด
ทำการศาลใหม่ ได้แก่ ศาลแขวงบางบอน ศาลแขวงเชียงราย นอกจากนี้ ศาลจังหวัดมีนบุรี ศาลจังหวัดพระโขนง และศาลจังหวัดตลิ่งชัน สนช. ได้ผ่านกฎหมายยกฐานะของทั้ง 3 ศาล จากศาลจังหวัดเป็นศาลแพ่งมีนบุรี ศาลอาญามีนบุรี ศาลแพ่งพระโขนง ศาลอาญาพระโขนง ศาลแพ่งตลิ่งชัน และศาลอาญาตลิ่งชัน ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคดีให้สอดคล้องกับปริมาณคดีในแต่ละประเภทที่มีเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ สำนักงานศาลยุติธรรมยังเล็งเห็นว่า เทคโนโลยี ข้อมูล การเรียนรู้ และทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล รวมทั้งกลยุทธ์ด้านดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงสำนักงานศาลยุติธรรมและหน่วยงานในสังกัดสู่ระบบดิจิทัลได้ภายในระยะเวลาที่รวดเร็วและมีความยั่งยืน จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ของสำนักงาน
ศาลยุติธรรม โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นประธานคณะกรรมการฯ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบุคคลภายนอก เพื่อประโยชน์ในงานส่งเสริมงานตุลาการ งานวิชาการ งานสนับสนุน
ศาลยุติธรรม และเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายที่จะก้าวสู่การเป็น D-Court (ศาลดิจิทัล) ในปี 2563 หรือ 2020

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link