สุนัขจรจัดกัดเด็กแล้วจะแก้ไขอย่างไร

สุนัขจรจัดกัดเด็กแล้วจะแก้ไขอย่างไร

ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการ และ ผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย เรื่องสุนัขจรจัดกัดเด็กเป็นปัญหาเมื่อเกิดขึ้น หลายคนมักจะมีข้อสังเกตและพุ่งเป้าไปยัง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ว่าเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อคุ้มครองสุนัขโดยเฉพาะไม่ให้ไปใครไปแตะต้องมัน เพราะถ้าใครไปแตะต้อง จะเป็นความผิดต้องโทษอาญาทั้งจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เรื่องดังกล่าวก็มีมุมมองน่าสนใจ ดังนี้ กรณีการบังคับใช้กฎหมาย ศาลปกครองสูงสุด ก็เคยมีคำวินิจฉัยตัดสิน ให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบดูแลสัตว์จรจัดชดใช้ค่าเสียหายให้เอกชน เช่น คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.1751/2559 ศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่า องค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจหน้าที่ ในการจัดการดูแลสุนัขจรจัด ซึ่งถือว่าสุนัขเป็นสัตว์ควบคุมตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ 2535 สัตว์จำต้องมีเครื่องหมายประจำตัว เมื่อพบเห็นแล้วโดยไม่ปรากฎเครื่องหมายประจำตัวสัตว์เจ้าพนักงานท้องถิ่นย่อมมีอำนาจจับสัตว์ควบคุมนั้นเพื่อกักขัง ถ้าไม่มีเจ้าของรับคืนภายใน 5 วัน ให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจทำลายสัตว์ควบคุมนั้นได้ ตามมาตรา 9 แต่ไม่ดำเนินการในการควบคุมสุนัขจรจัด เพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชนในท้องถิ่น หรือเพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากสัตว์ หรือเพื่อป้องกันระงับโรคติดต่อ หรือบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือเพื่อบำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎรในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ตามมาตรา 67 และ มาตรา 68 แห่ง พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 ให้ราชการผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้กับเอกชนผู้ฟ้องคดีนั้น
สำหรับ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 มีบทบาทอย่างไรเกี่ยวกับกรณีนี้ได้บ้าง มาตรา 26 ระบุว่า ในกรณีที่พบสัตว์ถูกปล่อย ละทิ้ง หรือไม่มีเจ้าของ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ตามความเหมาะสม แล้วพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายฉบับนี้ ก็ให้เป็นไปตาม ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา สุนัขจรจัดไปกัดเด็ก นอกจากการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจังแล้ว ควรจะมีการบูรณาการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้ร่วมกัน ควรมีมาตรการอื่น ๆ ในการดูแลสุนัขจรจัด โดยให้ชุมชนและประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมกับราชการส่วนท้องถิ่น องค์กรภาครัฐและเอกชน เช่น การจัดทำฐานทะเบียนสุนัขชุมชน ทำเครื่องหมายประจำตัว แยกคัดกรองสุนัขตามพฤติกรรมและลักษณะ โดยถ้าจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ควรมีการเก็บค่าธรรมเนียมตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่ที่สภาพบริบทท้องถิ่นของชุมชน ไม่ควรกระทบสิทธิของประชาชนโดยไม่จำเป็น ควรต้องเก็บจากน้อยไปหามาก โดยนำเงินที่ได้มาสร้างกองทุนเพื่อเยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อนจากสุนัขจรจัด บ้าน วัด หรือสถานสงเคราะห์อื่นที่เลี้ยงดูสุนัขเป็นจำนวนมาก ควรจะได้รับการบริการทางวิชาการ การควบคุมปริมาณสัตว์และป้องกันโรคระบาดสัตว์ เพิ่มช่องทางการรับเหตุร้องเรียน มีสายด่วนรับแจ้งเหตุ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และควรมีการจัดมาตรฐาน SHELTER ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ได้มาตรฐานทางวิชาการ ที่สำคัญต้องมีมาตรการอื่น ร่วมในการแก้ปัญหา เช่น การทำหมันฉีดวัคซีน หาบ้านใหม่และการสร้างจิตสำนึกควบคู่กันไป

ผ่านเลนส์ 005-รายงาน

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link