สอศ.-สพฐ.เดินหน้าเชื่อมโยงเรียนสายอาชีพในเขตกทม. ย้ำ เหนือกว่าหน้าที่คือความรับผิดชอบ

สอศ.-สพฐ.เดินหน้าเชื่อมโยงเรียนสายอาชีพในเขตกทม. ย้ำ เหนือกว่าหน้าที่คือความรับผิดชอบ

ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนา การขับเคลื่อนนโยบายการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานกับการจัดการอาชีวศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร พร้อมลงนามความร่วมมือ “สะพานเชื่อมโยงการจัดการศึกษา” ระหว่าง อาชีวศึกษากรุงเทพ กับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา กรุงเทพมหานคร เขต 1 และ เขต 2 และ มีการเสวนา เรื่อง “แนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานกับการจัดการอาชีวศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร” ณ ห้องประชุม วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง

ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เปิดเผยว่า ด้วยนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่ลงนามความร่วมมือเพื่อบูรณาการการทำงานเชื่อมโยงการจัดการศึกษาร่วมกันผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้กำลังคนทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมีการส่งเสริมการเรียนสายอาชีพของนักเรียน ด้วยโครงการสานฝันอาชีพเด็กไทยก้าวไกลสู่สากล เพื่อให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นได้ค้นพบตัวเอง ผ่านการเรียนการสอนเสริมทักษะอาชีพที่หลากหลาย รวมทั้งการจัดกิจกรรมแนะแนวและให้นักเรียนได้ทำแบบวัดแวว วัดความถนัดทางอาชีพ และสร้างเสริมประสบการณ์อาชีพ

โดยใช้สะพานเชื่อมโยง 5 สาย เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จระหว่าง สพฐ. กับ สอศ. ได้แก่ สะพานที่ 1 สะพานของฝ่ายบริหาร ที่เป็นการเชื่อมโยงระหว่างผู้บริหาร สพฐ. กับผู้บริหาร สอศ. ส่วนกลาง หรือระหว่างผู้อำนวยการโรงเรียนกับผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวะ และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษากับผู้อำนวยการเขตในแต่ละจังหวัด สะพานที่ 2 คือสะพานเชื่อมโยงระหว่างครูกับครู สะพานที่ 3 ให้เด็กเชื่อมโยงกันระหว่างเด็กกับเด็ก สะพานที่ 4 คือผู้ปกครองกับผู้ปกครองต้องเชื่อมโยงกัน มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เพื่อทำให้เกิดทัศนคติที่ดี มีความเชื่อมั่นว่าเด็กที่มีโอกาสได้เรียนสายอาชีพตั้งแต่ต้นจะได้ค้นพบตัวตน เน้นสมรรถนะมากกว่าวิชาการอย่างเดียว และสะพานที่ 5 คือการเชื่อมโยงกับชุมชน ซึ่งการเรียนในวิทยาลัยหรือในโรงเรียนอาจจะเรียนทางทฤษฎีมากกว่า จึงต้องเชื่อมโยงกับชุมชนหรือสถานประกอบการต่างๆ

ดร.บุญรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมสัมมนาในครั้งนี้ เป็นการประชุมของบุคคลที่เชื่อมโยงไปถึงการพัฒนาประเทศโดยชี้ให้เห็นว่าความร่วมมือในการทำสะพานเชื่อมโยงนั้นเดิมทีทำได้ดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ทำให้เด็กสามารถอ่านออกเขียนได้และในหลาย ๆ เรื่องที่เด็กประสบความสำเร็จ ส่วนด้านอาชีวศึกษาก็ผลิตและพัฒนากำลังคนให้เข้าสู่การพัฒนาประเทศได้อย่างเข้มข้น แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องคิดต่อคือในการทำหน้าที่นั้นต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อไปด้วย นั่นคือ “เหนือกว่าหน้าที่ คือความรับผิดชอบ” ซึ่งความรับผิดชอบนั้นต้องร่วมมือกันทำงาน มีความรับผิดชอบต่อตัวนักเรียน ที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน นอกจากทำให้อ่านออก เขียนได้ คิดคำนวณได้ ให้ค้นพบตัวตน ความสนใจ ความถนัด นั่นคือการตัดสินใจที่จะไปเรียนต่อด้านใด หรือประกอบอาชีพไหน ในอนาคตอีกด้วย

ด้านอาชีวศึกษาต้องคิดต่อยอด ต้องไม่คิดว่ามีนักเรียนมาเท่าไหร่ หายไปเท่าไหร่ ก็จัดการเรียนการสอนเท่านั้น ต้องคิดว่ามีหน้าที่ผลิตและพัฒนากำลังคนให้กับประเทศ มีความจำเป็นต้องใช้กำลังคนอย่างน้อย 4 กลุ่ม ในการทำงาน กลุ่มแรกคือทักษะเชิงเดี่ยว กลุ่มสองคือกลุ่มช่างฝีมือ เครื่องมือ เครื่องจักร เครื่องยนต์ได้อย่างคล่องแคล่ว มีฝีมือผลิตงานตามที่ต้องการได้ กลุ่มสาม คือกลุ่มช่างเทคนิค ที่สามารถคุมงาน สั่งงาน สามารถสื่อสารกับนายจ้างหรือผู้ประกอบการ โดยใช้ได้หลายภาษาและกลุ่มที่สี่ คือกลุ่มที่จะพัฒนาให้เป็นนวัตกรที่จะมาสร้างนวัตกรรมให้กับประเทศ

อาชีวศึกษาต้องไปให้ถึงจุดความรับผิดชอบ ว่าประเทศชาติต้องการคนอย่างน้อย 4 กลุ่ม แต่ปริมาณกำลังคนยังไม่เพียงพอ ซึ่งกลุ่มที่ 1 อาจจะมีมากพอ แต่ไม่ตอบโจทย์ในทักษะที่ได้รับ ซึ่งสามารถพัฒนาโดยหลักสูตรระยะสั้น ในวิทยาลัยสารพัดช่าง ให้ฝึกให้มีอาชีพให้มีงานทำส่วนกลุ่มที่ 2 ยังไม่เพียงพอจากข้อมูลของ EEC และความต้องการของประเทศแล้ว ไม่สามารถผลิตช่างที่มีฝีมือได้เพียงพอกับการผลิตและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมใน EEC ส่วนกลุ่มที่ 3 ช่างเทคนิคยังมีน้อยมาก กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญ เป็นกลุ่มที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ ตัดสินใจมาลงทุน มากหรือน้อย โดยมีผลต่อสังคม ถ้ามีการย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทยเงินทุนก็จะเข้ามาในประเทศ ความแข็งแกร่งในด้านเศรษฐกิจก็จะเกิดขึ้น อัตราการว่างงานก็จะน้อยลง เพราะคนมีงานทำ สินค้าที่ผลิตได้เป็นสินค้าในกลุ่ม S-Curve และ New S-Curve ทั้งหมด เป็นสินค้าที่เป็นความต้องการของโลก สินค้าที่ผลิตได้ก็ส่งออกไปต่างประเทศ ฉะนั้นเงินตราก็เข้าประเทศ ซึ่งก็เป็นความรับผิดชอบทางสังคมของอาชีวะที่สามารถทำให้คนทั้ง 4 กลุ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานได้

ดร.บุญรักษ์ กล่าวปิดท้ายว่า “เหนือกว่าหน้าที่ คือความรับผิดชอบ” ฉะนั้นหน่วยงานทา งการศึกษาทุกหน่วยงานต้องมองไปถึง out come การทำให้เด็กอ่านออกเขียนได้ หรือทำหน้าที่ของเราอย่างเดียว การศึกษาขั้นพื้นฐานทำหน้าที่ตัวเอง อาชีวะทำหน้าที่ตัวเอง เป็นเพียง out put แต่วันนี้ประเทศชาติต้องการ out come ของประเทศ สอศ.กับ สพฐ.จึงต้องทำ นโยบายให้เกิดความเชื่อมโยงกัน

ไมตรี บรรฑิตย์ รายงาน

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link