ปทุมธานี SME ชี้พรก.แสนล้านไม่หนุนรากหญ้า!!!

ปทุมธานี SME ชี้พรก.แสนล้านไม่หนุนรากหญ้า!!!
วันนี้ 23 เมษายน 2563 ตามที่มีพรก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ. ศ. 2563 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563 นายธีรวงศ์ สรรค์พิพัฒน์ ผู้ประกอบการ SME และกรรมการผู้จัดการบริษัทปราบขยะรีไซเคิล จำกัดได้ให้ความเห็นว่า เจตนารมณ์ของพรก.ดังกล่าวเพื่อช่วย SME โดยธนาคารแห่งประเทศไทย มีอำนาจให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน ในวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ยจากสถาบันการเงินร้อยละ 0.1 ต่อปีซึ่ง สถาบันการเงินจะนำเงินที่กู้ยืมต่อธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว ไปใช้ให้กู้ยืมแก่ผู้ประกอบการ SME ที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เฉพาะ 2 ปีแรก โดยไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ได้รับสินเชื่อ โดยวงเงินที่ให้กู้ยืม ไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดหนี้คงค้างณวันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมการ จดทะเบียน การจำนองอสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่รวมถึงหนี้คงค้างวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคล วงเงินสินเชื่อบัตรเครดิต ตามมาตรา 9 (1) (2)
เปรียบเทียบกันระหว่างพรก.เงินกู้สี่แสนล้านที่ช่วยเอกชนรายใหญ่ และพรก.ห้าแสนล้านเพื่อช่วย SME แล้วกลับยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของ SME ที่ทำได้ยากกว่าบมจ.รายใหญ่ตามเหตุผลดังนี้1. พรก.ช่วยเหลือ SME ให้ SME กู้ได้แค่ไม่เกิน20 เปอร์เซ็นต์ ของยอดหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ซึ่งยอดเงินของเอกชนรายย่อยมีขนาดเล็กอยู่แล้ว และยังกู้ได้แค่เพียง 20 เปอร์เซ็นของยอดหนี้คงค้างเท่านั้น ขณะที่บมจ.รายใหญ่เมื่อตราสารหนี้ถึงกำหนดชำระกลับสามารถได้รับการเข้าซื้อจากกองทุนที่แต่งตั้งโดยกระทรวงการคลังไม่เกินร้อยละ50 ของตราสารที่ถึงกำหนดชำระ ซึ่งเปรียบเป็นวงเงินกู้ขนาดใหญ่เต็มวงเงินไม่ใช่กู้ได้แค่เพียงยอดหนี้คงค้างเหมือนSME ทั้งยังสามารถได้รับการผ่อนผันจากคณะกรรมการกำกับกองทุนให้ได้เกินร้อยละ50 ได้อีกด้วยตามพรก.การรักษาเสถียรภาพฯ มาตรา11 (3)
2. SME ตามพรก.การให้ความช่วยเหลือฯ หมายถึง SME ที่ต้องมีวงเงินสินเชื่อเดิมอยู่กับสถาบันการเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท ซึ่ง เป็นการปิดตายให้กับโอกาสของ SME ขนาดเล็กที่ต้องการกู้ใหม่ถ้าไม่มีวงเงินกู้เดิมอยู่ และขนาดไม่เกิน 500 ล้านบาทอาจเป็นขนาดที่ใหญ่เกินกว่า SMEในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบเป็นรายย่อยส่วนใหญ่ และทั้งยังมีการแตกไลน์ของเอกชนรายใหญ่ ลงมาเพื่อประโยชน์ในการวางแผนภาษีอยู่เดิมแล้ว จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าเอกชนวงเงิน500ล้านเป็น SME และทำให้วงเงิน5 แสนล้านตามพรก.นี้อาจถูกนำไปช่วยเอกชนรายใหญ่ในทางอ้อมอีกฉบับ ไใสามารถเข้าถึง SME ได้อย่างเต็มที่
3. SME เมื่อกู้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าต้องเสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 2 ให้กับสถาบันการเงินหรือไม่ ซึ่งแม้ดอกเบี้ยจะไม่เกินร้อยละ 2 ในสองปีแรก แต่ถ้าถูกคิดค่าธรรมเนียม 2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อกู้ 1 ปี SME ต้องเสียดอกเบี้ยถึงประมาณ 4 เปอร์เซ็น ยังไม่นับรวมการขายประกันที่มาพร้อมกับวงเงินกู้ซึ่งแม้จะไม่อยู่ในสภาพบังคับเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ถ้าไม่ซื้อประกันอาจมีผลต่อการอนุมัติวงเงินในทางปฏิบัติ จึงอาจเป็นการเอื้อให้กับการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ในทางอ้อมถ้าไม่มาตรการกำกับดูแลอย่างรัดกุมเพื่อยกเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและการซื้อประกัน
4. SME ต้องกู้ผ่านธนาคารหรือสถาบันทางการเงิน ขณะที่เอกชนรายใหญ่กองทุนเพื่อรักษา สภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ โดยปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานจะเข้าซื้อหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชำระ ดังนั้นกว่าที่เงินห้าแสนล้านจะไปถึง SME คงใช้ระยะเวลาเดินทางอย่างยาวนานและไม่ทันต่อการแก้วิกฤต
5. SME ต้องใช้อสังหาริมทรัพย์ในการกู้ใหม่ ขณะที่เอกชนรายใหญ่ไม่มีความจำเป็น ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันมี SME กี่รายที่ยังมีอสังหาริมทรัพย์ แม้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการจดจำนอง แต่กว่าจะผ่านกระบวนการประเมินและมีค่าประเมินปกติก็ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์
6. พรก. ฉบับนี้ให้เฉพาะ SME ที่มีมีเงื่อนไขไม่ผิดนัดชำระ โดยไม่คำนึงว่ามี SME ที่ตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสโคโรนามาก่อนแล้ว SME ส่วนใหญ่ไม่มีเงินหมุนเวียนโดยไม่มีรายรับได้เป็นเดือน ก็จะตกเป็นผู้ผิดนัดโดยปริยาย เสียสิทธิ์และวงเงินให้กู้ยังไม่รวมถึงวงเงินบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเป็นวงเงินหลักของ SME บางรายที่ใช้แทน Soft Loan หรือวงเงินสินเชื่อธุรกิจปกติ
7. พรก.ฉบับนี้มุ่งเน้นให้กู้ใหม่ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนที่ยุ่งยาก สิ้นเปลืองเวลา ใช้อสังหาริมทรัพย์ และมีค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้วงเงินกู้ร้อยละ 20 ดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ไม่เกิน 2 ปี
ดังนั้น พรก.ห้าแสนล้านเพื่อช่วยเหลือ SME จึงยังไม่ตรงประเด็นเหมือนพรก.สี่แสนล้านที่ช่วยเหลือเอกชนรายใหญ่ตรงจุด ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงควรพิจาณาดังนี้
• ขอให้ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันทางการเงินงดเว้นดอกเบี้ยผิดนัดของสินเชื่อทุกประเภท และค่าติดตามทวงถามตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นมา เพราะดอกเบี้ยสินเชื่อทางธุรกิจ (MRR) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 6.1 แต่ดอกเบี้ยผิดนัดสูงถึงร้อยละ 28 ยังไม่รวมค่าทวงถาม ค่าปรับอื่นๆ ซึ่งยากที่จะมีธุรกิจประเภทใดมีกำไรถึง 28 เปอร์เซ็นต์ แปลว่าอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยติดลบ และไม่สามารถจ่ายคืนดอกเบี้ยหรือเงินต้นได้ในอนาคต อัตราค่าปรับที่สูงเกินจริงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการชุดรั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในทางปฏิบัติดอกเบี้ยปกติSME ถ้ายังไม่สามารถจ่ายได้แล้วจะสามารถจ่ายค่าปรับที่สูงขึ้นเกือบ 5 เท่าได้อย่างไร
• SME เป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจประเทศไทยและเติบโตขึ้นมาเป็นรายใหญ่ล้วนผ่านการเป็น SME มาก่อนทั้งนั้น ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงควรให้ความสำคัญอันดับหนึ่งไปที่ sme ไม่ใช่เอกชนรายใหญ่ เพราะ SME เป็นฟันเฟืองสำคัญที่เมื่อได้รับแหล่งเงินทุนแล้วจะหมุนเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ อย่างเร่งด่วน ต่างจากรายใหญ่ที่จะต้องมีการพิจารณาในการลงทุนยิ่งในภาวะที่มีวิกฤติด้วยแล้ว โครงการลงทุนต่างๆจะถูกระงับ ไปเกือบทั้งหมด การไปช่วยเอกชนรายใหญ่จึงไม่ส่งผลประโยชน์แท้จริงต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าหุ้นกู้ที่บริษัทรายใหญ่ได้ทำการออกมานั้นอาจไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้จึงต้องออกหุ้นกู้ไปเรื่อยๆ เพื่อปกปิดข้อเท็จจริงทางบัญชีบางประการ และแสดงให้เห็นว่าเอกชนรายใหญ่ดังกล่าวนั้นอาจไม่ได้มีเงินทุนสำรองเพียงพอที่จะชำระตราสารหนี้ของตนได้เมื่อถึงกำหนดชำระ การใช้เงินถึงสี่แสนล้านไปกับหุ้นกู้โดยตรงนั้นนอกจากส่งผลต่อความเชื่อมั่นในวงกว้างต่อบมจ.แล้วอาจเกิดข้อครหาว่าเป็นเพียงการอุ้มตลาดทุนและ ผลประโยชน์ทับซ้อนได้ในอนาคตเพราะบมจ.เหล่านั้นสามารถใช้กลไกทางเงินผ่านสถาบันการเงินปกติได้อยู่แล้ว การเข้าซื้อหุ้นกู้ของธนาคารแห่งประเทศไทยผ่านกองทุนที่จัดตั้งขึ้นจึงอาจเป็นเข้าแทรกแซงกลไกของสถาบันการเงินที่จะสะท้อนความเป็นจริงของงบบัญชีเอกชนรายใหญ่และความน่าเชื่อถือ การพิจารณาเข้าซื้อตราสารหนี้โดยเงินแผ่นดิน หากเกิดข้อพิพาทขึ้นในอนาคตอาจเป็นเพียงแค่การช่วยซุกปัญหาไว้ใต้พรมด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
• พิจารณาให้ธนาคารให้วงเงินสินเชื่อเพิ่มโดยมีกำหนดระยะเวลา และผ่อนผันหรือไม่นำเรื่องเครดิตบูโรมาพิจาณาประกอบตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 รวมถึงในวงเงินกู้เดิมไม่จำเป็นต้องใช้อสังหาริมทรัพย์ใหม่มาจำนอง และเปิดโอกาสให้กับ SME รายใหม่ที่ประกอบการมาระยะเวลาหนึ่งแล้วยังไม่เคยผ่านการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน
• มีกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อจากพรก.ฉบับนี้
• พิจารณาช่องว่างระหว่างความสัมพันธ์ของดอกเบี้ยนโยบายที่มีผลต่อดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ และดอกเบี้ยเงินฝาก ที่ในภาวะปกติธนาคารพาณิชย์มีช่องว่างประมาณ 5.45 เปอร์เซนต์ต่อปี หมายถึงจะมีกำไรขั้นต้นที่ 5.45 + ค่าธรรมเนียมร้อยละ 2 + ค่าประกัน คิดที่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไปมากเมื่อเปรียบกับเงินกู้ตามพรก. ฉบับนี้ธนาคารพาณิชย์จะได้กำไรขั้นต้นที่ร้อยละ 2 – 0.1(ต้นทุนดอกเบี้ยวงเงินห้าแสนล้านของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ให้กู้) เท่ากับมีกำไร 1.9 ต่อปีไม่รวมค่าธรรมเนียมวงเงินกู้และค่าประกัน ซึ่งเป็นธรรมต่อการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินและ SME ผู้กู้
• ธนาคารแห่งประเทศเมื่อสามารถตั้งกองทุนฯ ซึ่งระยะเริ่มแรกธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนแต่เพียงผู้เดียวเพื่อช่วยเอกชนรายใหญ่ได้ แต่ปล่อยให้ SME ไปกู้ผ่านสถาบันการเงินโดยยังมีส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกันความเสียให้ธนาคารพาณิชย์ตามมาตรา 11 และยังทำให้ต้นทุนเงินกู้ของ SME เพิ่มจาก 0.1 เป็นร้อยละ 2 รวมถึงธนาคารพาณิชย์ได้กำไรส่วนต่างไปโดยไม่ต้องจัดหาแหล่งเงินเพื่อปล่อยสินเชื่อแต่อย่างใด
ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงควรพิจารณาออกมาตรการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อช่วย SME ให้ตรงจุดและสามารถลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้ในคราวเดียวจากการพิจารณาตามข้อเสนอดังกล่าว

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link