สถิติภาพรวมของการเกิดคดีอาชญากรรมทั่วประเทศรอบเกือบ 2 เดือนเศษที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติชี้วัดได้ว่า “ลดน้อยลง” เป็นที่น่าพอใจ

เมื่อเสือมันได้เวลาหิว ตัวเลขสถิติภาพรวมของการเกิดคดีอาชญากรรมทั่วประเทศรอบเกือบ 2 เดือนเศษที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติชี้วัดได้ว่า “ลดน้อยลง” เป็นที่น่าพอใจ

เหตุผลมาจากรัฐบาลประกาศใช้ พระราชกำหนดบริหารราชการฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19)

เป็นมาตรการเข้มงวดและเร่งด่วน

นำเอาการบังคับใช้กฎหมายเป็นเสมือน “อาวุธ” สู้รบกับ เชื้อไวรัสอุบัติใหม่ ควบคู่กับการกวดขันปราบปรามอาชญากรรมที่ซ้ำเติมประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนต่อการดำเนินชีวิต

ส่งผลให้สถิติการเกิดอาชญากรรมให้ห้วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึง 23 พฤษภาคม 2563 มีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด

สถานภาพคดีอาชญากรรมไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม 1 (ชีวิต ร่างกาย เพศ) กลุ่ม 2 (ทรัพย์) กลุ่ม 3 (พระราชบัญญัติที่มีโทษทางอาญา) เกิดลดลง

ขณะที่กลุ่ม 4 (ผลการจับกุมคดีที่รัฐเป็นผู้เสียหาย) มีจำนวนเพิ่มขึ้น

เมื่อนำสถิติคดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นมาเปรียบเทียบกับผลการจับกุมพบว่า การดำเนินการจับกุมที่เพิ่มขึ้น และบังคับใช้กฎหมายตามพระราชกำหนดบริหารราชการฉุกเฉิน ส่งผลให้คดีอาชญากรรมทุกประเภทมีแนวโน้มลดลง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำลังสนุกมีความสุขกับ “ตัวเลข” ที่ชี้วัดความสำเร็จในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมในช่วงวิกฤติไวรัสโควิด-19 ระบาด

พวกเขาเชื่อว่า การบังคับใช้กฎหมายตาม พระราชกำหนดบริหารราชการฉุกเฉิน หรือที่ชาวบ้านมักนิยมเรียกว่า “เคอร์ฟิว” มีผลดีต่อบ้านเมือง

แต่ไม่มีหน่วยไหนทำสถิติ “ผู้คนตกงาน” พลิกผันไปเป็น “โจรผู้ร้าย” ออกก่อคดีหาเงินประทังชีวิตกี่ราย

ไม่มีหน่วยไหนทำสถิติ “ผู้คนตกงาน” อยู่ในสภาวะเครียด ซึมเศร้า ก่อนลงเอยด้วยการ “ฆ่าตัวตาย” ไปกี่ศพ

ขณะเดียวกัน ไม่มีหน่วยไหนทำสถิติ “แก๊งตำรวจนอกแถว” ออกตระเวนข่มขู่กรรโชกทรัพย์ หลังจาก “เบี้ยเลี้ยง” หดหาย ละลายไปกับ “เคอร์ฟิว” ทำให้เกิดอาการหิวกระหาย ตาลาย น้ำลายเหนียว ตามมาด้วยหนี้สินพะรุงพะรัง

ว่ากันว่า ตำรวจแทบจะเป็นหน่วยเดียวที่หลายคนไม่จำเป็นต้องผ่าน “หลักสูตรการบิน” แต่สามารถรับบท “นักบิน” อาละวาด “ตีกิน” ทั่วอาณาจักร

ส่งสัญญาณ “เสือหิว” ออกล่าเหยื่อ

พฤติกรรมหนักที่สุด คือ ขบวนการอุ้มเรียกค่าไถ่ “เครือข่ายยานรก” ที่ต้องแลกอิสรภาพด้วย “เงินก้อนใหญ่”

พวกนี้จะรวมหัว แตกแถว มี “สายลับ” เป็น “นิ้วเพชร” คอย “ชี้เป้าเหยื่อ” ส่วนใหญ่มีประวัติพัวพันยาเสพติดและไม่คิดแจ้งความเอาผิด

รายไหนขัดขืน “ดื้อแพ่ง” อาจกลายเป็น “ศพนิรนาม” ไร้ญาติ

ทฤษฎี “เสือหิว” ปากร้อง ท้องกิ่วเกิดขึ้นมานานในวงการสีกากี

วันนี้ยังคงมีให้เห็นต่อเนื่อง

อยู่ที่ “เจ้านาย” จะจับได้ ไล่ทันแค่ไหน

บางครั้งคิดจะเฉือน “เนื้อร้าย” กลับกลายเป็นปล่อย “เสือเข้าป่า” ได้เวลาถอดเครื่องแบบหากินเป็น “โจรเต็มตัว” น่ากลัวครับ

…….. ความดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง หลายคนบอกไว้

แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่มีอีกหลายมักชอบ “สร้างภาพ” เอาดีใส่ตัวเอง ไม่ใช่สร้างภาพลักษณ์เพื่อองค์กรส่วนรวม

ถึงกระนั้นก็ยังดีกว่าสร้างความเสื่อมเสียเป็น “ปลาเน่า” ทำลายภาพรวมส่วนใหญ่ทั้งหมดละลายหายไปในพริบตา

ทุบแรงศรัทธาที่มีต่อสายตาประชาชน

นับตั้งแต่ “วิกฤติโควิด” กระแสข่าวตำรวจเลือกเดินทางผิดแทบยกโขยง ปมเหตุมาจาก “ปากร้อง ท้องกิ่ว” หรือว่า หิวกระหายโดยสันดาน ประพฤติปฏิบัติกันมานานจนเกิดความเคยชิน ไม่สนโลกที่เปลี่ยนแปลง

ไม่เกรงกลัวสังคมโซเชียลจับเอาไปเล่นบท “ผู้ร้าย” โชว์พฤติกรรมฉาวตามโลกออนไลน์

ขออนุญาตยกตัวอย่างไล่ลำดับความเหม็น

ร้อยตำรวจเอกที่มาจากนายดาบเลื่อนไหลเมาเหล้าเข้าเวรลวนลามอนาจารนักเรียนหญิงบน โรงพักภาคอีสาน

สิบตำรวจเอกจับคู่สิบตำรวจโทรุ่นน้อง ตำรวจตระเวนชายแดน ขับเก๋งรับจ้างขนยาบ้า 780,000 เม็ด

ตามด้วยดาบตำรวจ อีสานเหนือ ถูกจับคาบ้านพร้อมยาบ้า 328 เม็ด

ขณะที่ โรงพักคลองด่าน สมุทรปราการ ตั้งขบวนการ “อิทธิพลมืด” อุ้มรีดตีเงินยาเสพติดสนุกสนานจนเคยตัว ลุกลามไปถึง โรงพักบางพลี จากพฤติกรรมลักษณะเดียวกัน

ส่วนภาคใต้ไม่น้อยหน้ายกพลอ้าง ตำรวจสืบสวนภูธรภาค 8 ข่มขู่เรียกเงินพ่อค้าลูกหอยแครงเป็นจำนวนนับล้าน

ล่าสุดและคงไม่สุดท้าย

ตำรวจ โรงพักหนองจอก จังหวัดเพชรบุรี ทำขายหน้าประชาชี “ตรวจฉี่” บังคับแลก “เงินค่าปรับเถื่อน” เป็นข่าวดังว่อนโลกโซเชียล

อีกไม่น้อยยังเพลิดเพลินระเริงมือ ออกสวมวิญญาณ “นักบินขับไล่” อาละวาดแตกแถว จ้องจับกิน “เหยื่อ”กันกระหยิ่มยิ้มย่องลำผองตัว

พอจับได้- ไล่ทัน “ผู้เป็นนาย” ย่อมฟันผิดให้ “พ้นตัว” กลัวข้อหาไม่ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา

ว่ากันว่าเป็น “ชีวิตวิถีใหม่” บางจำพวกของกองทัพสีกากี

ในวันที่หิวกระหาย เพราะผู้เป็นนาย (บางคน) อิ่มท้อง-สมองตัน

ต้องยอมรับวิกฤติสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบมากมาย

“หวัดมรณะสายพันธุ์ใหม่” ไม่ได้ทำลายล้างแค่มนุษยชาติ แต่ลุกลามพังสภาพเศรษฐกิจย่อยยับจากการต้องใช้มาตรการเข้มเพื่อสกัดการแพร่กระจายของเชื้อโรคระบาด

เมืองไทยหลากหลายธุรกิจถูก “กากบาท” สั่งปิดกิจการกลายเป็นห้างร้างไร้ผู้คน หลายอาชีพโละพนักงานเพื่อพยุงกิจการให้อยู่รอดแบบ “กัดกอดก้อนเกลือ” เฉือนเนื้อทิ้ง ประวิงเวลาหายใจให้ยาวอีกสักระยะเผื่อเอาชนะวายร้ายไวรัสได้เร็วขึ้น

หน่วยงานข้าราชการน่ากังวลมากสุดไม่พ้น องค์กรผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ท่ามกลางกำลังพลเกือบ 2 แสนนาย

ว่ากันว่า “จ่ออดตาย” เพราะเบื้ยเลี้ยงจาก “ธุรกิจสีเทา”หดหาย

ทว่าเมื่อมีคำสั่งของ “ผู้เป็นนาย” ถึงจะหิวกระหาย ตาลายก็ต้องก้มหน้าปฏิบัติหน้าที่

แม้อาจมีเพียงบางส่วน “แตกแถว” เล่นบทนอกกรอบในทันทีที่อยู่ในสถานะ “กรอบไปทั้งตัว” ครอบครัวเข้าตาอับ

เงินขาดมือ “สุดยื้อ” เพราะภาวะหนี้สินรุมเร้าตามมา

วิกฤติ “ปากร้อง ท้องกิ่ว” ระลอกนี้ จำเป็นที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต้องแสดงบท “แม่ทัพ” ขยับดูแล “ขุนศึก”ไม่ให้นึก “น้อยเนื้อต่ำใจ” ไร้การบำรุงขวัญขับเคลื่อนให้ “กองทัพสีกากี” มีกำลังเรี่ยวแรงไปดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

บันทึกข้อความที่ 0009.33/1496 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถึง ผู้บัญชาการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า ผู้บังคับการ ในสังกัด สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า

(ไม่ครอบคลุมถึงหน่วยกองบัญชาการอื่นนอกสังกัดสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ)

เรื่องนโยบายการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ข้าราชการตำรวจ

น่าจะเป็น “ยาหอม” ชโลมชีวิตวิกฤติขุนศึก

ความระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนของข้าราชการตำรวจและครอบครัว ในการนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความห่วงใยต่อข้าราชการตำรวจและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง

สำนักงานตำรวจพิจารณาแล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและแบ่งเบาภาระทางด้านการเงินให้แก่ข้าราชการตำรวจและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ อีกทั้งเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ราชการให้แก่ข้าราชการตำรวจ

ให้ท่านสั่งการเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านการเงิน ดำเนินการตรวจสอบข้าราชการตำรวจในสังกัดที่มียอดเงินเดือน คงเหลือต่ำกว่า 5,000 บาท

โดยให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการ ดังนี้

กำหนดมาตรการในการให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนทางด้านการเงินแก่ข้าราชการตำรวจและครอบครัว

เช่น จัดหาอาชีพเสริมให้ข้าราชการตำรวจและครอบครัวให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบันเพื่อเพิ่มรายได้ลดรายจ่ายในครัวเรือน เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น จัดโครงการอาหารกลางวันให้กับข้าราชการตำรวจ จัดโครงการตู้ปันสุข เป็นต้น

ให้หน่วยงานระดับ กองบัญชาการ และกองบังคับการ ในสังกัดสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รายงานผลการดำเนินการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผ่านผู้บังคับการสวัสดิการ ) ทราบ ภายใน 30 มิถุนายน 2563 เพื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะได้กำหนดแนวทางในการดำเนินการให้ความช่วยเหลือในภาพรวมต่อไป

ปัดเป่าได้แค่ไหน

ทุกหน่วยได้รับการเยียวยาผลกระทบทั้งหมดหรือไม่

คงต้องไล่ถามตามกันเอาเอง

ขอบคุณที่มา cops magazine

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link