อุบลฯ เตรียมพร้อม ! ผู้ว่าฯ นำทัพคณะทำงาน ขับเคลื่อน “โคก หนอง นา โมเดล”

วันที่ 9 กันยายน 2563 เวลา 10.00 – 13.30 น. ณ ห้องประชุมค้ำคูณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุบลราชธานี อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” จังหวัดอุบลราชธานี ครั้งที่ 1/2563 เพื่อน้อมนำและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสที่ทรงพระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ “ความสดใส สดชื่น ของโคกหนองนา” และ “ความสุขและอบอุ่นในบ้าน บนโคกหนองนา” ทรงลงพระปรมาภิไธย 3 กันยายน 2563 เป็นกำลังใจให้พสกนิกรชาวไทย ได้มีพลังใจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อให้ครอบครัวมีความสุขอย่างยั่งยืน และนำไปสู่ประเทศชาติที่มั่นคง
ทั้งนี้ ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เผยแพร่ภาพวาดฝีพระหัตถ์ “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง” 3 แบบ ประกอบด้วย แบบที่ 1 พระราชทานข้อความว่า “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง” “งานเสร็จ เป็นรูปธรรม นามธรรมอิ่มเอิบ สบายใจ”, แบบที่ 2 พระราชทานข้อความว่า “โคกหนองนากับความสุขสดใส” “We are farmers together” และแบบที่ 3 พระราชทานข้อความว่า “เรารักธรรมชาติ เราสร้างสรรค์ในงานเกษตร โคกหนองนาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ และความสดใสทั้งกายและใจ Happy Farmers”
จังหวัดอุบลราชธานี ได้ดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลัก “โคก หนอง นา โมเดล”โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ด้วยการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ โคก หนอง นา โมเดล ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระดับตำบลและระดับครัวเรือน และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยภาพฝีพระหัตถ์ ซึ่งทรงพระราชทานให้ชาวไทยทุกคนนี้ จะนำไปเผยแพร่แก่ผู้เข้าร่วมโครงการทุกครัวเรือนและพี่น้องในพื้นที่จังหวัดฯ ทุกตำบลและหมู่บ้าน เพื่อเป็นกำลังใจและสร้างพลังใจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป” ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าว
ด้านนายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะเลขานุการคณะทำงานฯ ได้นำเสนอกระบวนการขับเคลื่อนงาน “โคก หนอง นา โมเดล” ของจังหวัดอุบลราชธานี ที่สำคัญ 7 ขั้นตอน ดังนี้ 1.ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” 2. สร้างพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบลและพัฒนาพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต 3. สร้างงาน สร้างรายได้ รายเดือนให้แก่เกษตรกร แรงงานและบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน 4. กระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชนผ่านกิจกรรมการพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือน 5. บูรณาการร่วมพัฒนาพื้นที่ระดับตำบล 6. พัฒนาการสร้างมาตรฐานผลผลิต การแปรรูปและการตลาดตามมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทย 7. พัฒนาระบบ Digital รองรับ Local Economy ด้วยการสร้างระบบโปรแกรมและระบบฐานข้อมูล
โดยได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ตามขั้นตอน ได้แก่ 1) การรับสมัคร ระยะที่ 1 ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ระยะที่ 1 ระหว่างวันที่ 1-9 มิถุนายน 2563 ผลการดำเนินงาน มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ รวมทั้งสิ้น 3,960 ราย แยกเป็นพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล ( CLM ) จำนวน 68 ราย ขนาดพื้นที่ 10 ไร่ = 1 ราย และ 15 ไร่ = 67 ราย / พื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ( HLM ) จำนวน 3,892 ราย ขนาดพื้นที่ 3 ไร่ = 2,211 ราย และ 1 ไร่ = 1,681 ราย 2) ประเภทพื้นที่ ดังนี้ แยกเป็น โฉนด 2,454 ราย / สปก. 1,044 ราย / น.ส.3 369 ราย / ภ.บ.ท.5 54 ราย / สค.1 19 ราย / น.ส.2 13 ราย / น.ส.ล. 4 ราย / น.ส.5 1 ราย / ที่ราชพัสดุ 1 ราย และหนังสือรับรองการใช้ประโยชน์ที่ดิน 1 ราย 3) จังหวัดอุบลราชธานี ให้ทุกอำเภอประชุมพื้นที่เป้าหมาย เพื่อสร้างความเข้าใจ และตรวจสอบความพร้อมของเอกสารที่เกี่ยวข้อง และเตรียมเข้ารับการฝึกอบรมกิจกรรมที่ 1 4) จัดประชุมเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทุกคนเพื่อเตรียมความพร้อม เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 5) การรับสมัคร ระยะที่ 2 จังหวัดอุบลราชธานี ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์และรับสมัคร ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ระยะที่ 2 เริ่มรับสมัครวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563
ในส่วนของแผนการฝึกอบรมตามกิจกรรมที่ 1 จังหวัดอุบลราชธานี กำหนดดำเนินการ 2 แห่ง คือ 1) ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุบลราชธานี 2) ศูนย์ปฏิบัติธรรมวังอ้อ อำเภอเขื่องใน โดยในลำดับแรกจะให้อำเภอที่มีเป้าหมายจำนวนมากเข้ารับการฝึกอบรมก่อน ได้แก่ ตระการพืชผล/เดชอุดม/ม่วงสามสิบ/น้ำขุ่น และอำเภออื่นๆ ต่อไป
สำหรับการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ครั้งนี้ ได้เชิญภาคีและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคศาสนา เเละภาคสื่อมวลชน เช่น หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดที่มีบทบาทภารกิจที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมในโครงการฯ นายอำเภอและพัฒนาการอำเภอ ทั้ง 25 อำเภอ เเละผู้แทนกลุ่ม SAVEUBON รวมกว่า 100 คน เพื่อสร้างการรับรู้เเละความเข้าใจร่วมกันขับเคลื่อนงานฯ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ภายใต้หลักธรรมาภิบาลอีกด้วย

กิตติภณ เรืองแสน / ข่าว.

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link