ทึ่ง.! คณะเกษตรศาสตร์ ม.อุบลฯ ปลูกมะเขือเทศเชอรี่อินทรีย์ 1 ต้น ออกผล 4 พันลูก

ทึ่ง.! คณะเกษตรศาสตร์ ม.อุบลฯ ปลูกมะเขือเทศเชอรี่อินทรีย์ 1 ต้น ออกผล 4 พันลูก
อีกหนึ่งความสำเร็จของ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการนำนวัตกรรมระบบเพาะปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์มะเขือเทศเชอรี่ ได้สำเร็จ โดยเพาะปลูก 1 ต้น สามารถออกผลได้มากกว่า 4,000 ลูก โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.บุญส่ง เอกพงษ์ นักวิจัยคณะเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญพัฒนฃาพันธุ์มะเขือเทศเชอรี่อินทรีย์ ในอันดับต้นๆของประเทศ โดยทดลองปลูกจนประสบความสำเร็จในครั้งนี้ พร้อมจัดแสดงที่บริเวณ ณ บริเวณโรงเรือน ในพื้นที่จัดงานเกษตรอีสานใต้ ซึ่งปีนี้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้เลื่อนการจัดงานโดยไม่มีกำหนด เนื่องจากสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด -19
รองศาสตราจารย์ ดร.บุญส่ง เอกพงษ์ นักวิจัยคณะเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ทำการวิจัยเพาะปลูกและการแปรรูปมะเขือเทศเชอรี่อินทรีย์ มาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้จากการทำงานวิจัย ให้เกษตรกร สร้างอาชีพ และรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมะเขือเทศเชอรี่มีความโดดเด่นในด้านรสชาติ ปัจจุบันนำมารับประทานเป็นผลไม้สด มีผลตอบแทนสูงประมาณกิโลกรัมละ 200-300 บาท มีความหลากหลายของสายพันธุ์ตัวที่โดดเด่นที่สุดคือมะเขือเทศเชอรี่สีแดง

ในส่วนของการทดลองปลูกมะเขือเทศเชอรี่ครั้งนี้ นับว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมายและเป็นลำดับต้นๆของประเทศไทย ในการปลูกมะเขือเทศเชอรี่ เปรียบเทียบพันธุ์ในระบบไฮโดรโปนิกส์ ปลูก 1 ต้น ได้ผลผลิตประมาณ 4,000 ลูก นักวิจัย ม.อุบลฯได้พัฒนาพันธุ์พร้อมใช้ชื่อว่า “พันธุ์มหามงคล” โดยการปลูกระบบไฮโดรโปนิกส์ ใช้ระบบน้ำหมุนเวียน มะเขือเทศมีความต้องการธาตุอาหารจำนวนมาก ใบและรากจึงต้องมีความสมดุลกัน นักวิจัยต้องใช้น้ำเติมลงในอ่างวันละประมาณ 100 ลิตร เพื่อหล่อเลี้ยงราก พร้อมใส่ปุ๋ย AB สำหรับไฮโดรโปนิกส์ ในปริมาณที่เหมาะสม จึงทำให้ผลผลิตออกมาเป็นที่น่าพอใจ
สำหรับ ผู้ที่สนใจ สามารถชมระบบสาธิตการปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์ มะเขือเทศเชอรี่ ณ บริเวณพื้นที่โรงเรือนจัดงานเกษตรอีสานใต้ (ปีนี้งดการจัดงาน เนื่องจากสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด -19) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยและบริการวิชาการ คณะเกษตรศาสตร์จึงจัดแสดงให้เข้าชมระหว่างวันที่ 5-14 กุมภาพันธ์ 2564 หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โทรศัพท์ 045-353500

กิตติภณ เรืองแสน / ข่าว.

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link