ศรีสะเกษ แล้งกระหน่ำ 3 อำเภอ ปภ.เร่งสูบน้ำระยะไกลไปช่วยเหลือ เตรียมซ่อมแซมภาชนะเก็บกักน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง


เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้สถานการณ์ภัยแล้งในเขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ค่อนข้างมาเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากว่า สภาพอากาศที่ค่อนข้างร้อนจัดทำให้แหล่งน้ำจำนวนมากเริ่มแห้งขอด ทำให้หลายหมู่บ้านเริ่มที่จะขาดแคลนน้ำที่จะนำเอาไปใช้ในการอุปโภคบริโภค ส่งผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงและการทำการเกษตร พืชไร่เริ่มขาดน้ำ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ ได้สั่งการให้ นายบุญประสงค์ นวลสายย์ หน.สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ศรีสะเกษ ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปทำการสำรวจพื้นที่ที่เริ่มประสบภัยแล้ง เพื่อเร่งแก้ไขให้การช่วยเหลือโดยด่วนแล้ว
นายบุญประสงศ์ นวลสายย์ หน.สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ ได้มอบหมายให้ ปภ.จ.ศรีสะเกษ ประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับภัยแล้ง ตั้งแต่เดือน ม.ค. – เม.ย. 64 จนถึงเดือน พ.ค. 64 ซึ่งได้มีการประเมินสถานการณ์ร่วมกับ อุตุนิยมวิทยาศรีสะเกษ ชลประทานศรีสะเกษ ในการติดตามน้ำ ปรากฏว่า ขณะนี้น้ำในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ แม้ว่าปี 2563 จะมีฝนตกเยอะมาก แต่แหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ เก็บกักน้ำไว้ได้น้อยมาก ทำให้บางพื้นที่มีตัวบ่งชี้ว่าอาจจะเกิดการขาดแคลนน้ำ มี 3 พื้นที่หลักคือ อ.ไพรบึง อ.เมืองจันทร์ และ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ ซึ่ง 3 อำเภอนี้มีฝนตกน้อยกว่า 1,000 มม. และกำลังเริ่มประสบปัญหาภัยแล้ง ขณะนี้ได้เตรียมเครื่องสูบน้ำระยะไกลของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตอุบลราชธานี และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จำนวน 3 เครื่อง โดยในสัปดาห์นี้จะเข้าไปปฏิบัติการในเขต อ.ไพรบึงและ อ.เมืองจันทร์ และมีเครื่องสูบน้ำแรงดันสูง ขนาด 14 นิ้ว ที่จะเข้าไปช่วยเหลือสูบน้ำในพื้นที่ของ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ
นายบุญประสงศ์ นวลสายย์ หน.สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งคือ ทางพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำมีการวางแผนเริ่มการกักเก็บน้ำ มีการสำรวจภาชนะหรือแหล่งเก็บน้ำในพื้นที่ เร่งทำการซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดเพื่อให้สามารถใช้ในการเก็บกักน้ำได้ ส่วนในการแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้น นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ ได้ขับเคลื่อนในเรื่องการบริหารจัดการน้ำเป็น วาระ 1 ใน 10 วาระของ จ.ศรีสะเกษ โดยกำลังเร่งดำเนินการเรื่องเส้นทางน้ำและผังน้ำ เพื่อจะได้ตอบโจทย์การสำรวจแหล่งน้ำต้นทุนของแต่ละพื้นที่ในระดับหมู่บ้านชุมชน ถ้าเราได้เส้นทางน้ำผังน้ำแล้ว เราจะมาตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน แก้ปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง เราจะต้องพัฒนาน้ำจุดไหน จะต้องมีระบบกระจายน้ำจุดไหน หากจุดไหนน้ำไม่พอ เราจะต้องเตรียมเครื่องสูบน้ำเข้าไปแก้ไขให้การช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งอย่างเร่งด่วนต่อไป ซึ่งขณะนี้ ผวจ.ศรีสะเกษ ได้สั่งการให้ ปภ.ศรีสะเกษ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเตรียมการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งไว้เรียบร้อยแล้ว


ข่าว/ภาพ…… บุญทัน ธุศรีวรรณ ศรีสะเกษ

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link