ราชบุรี หนุ่มโพธาราม บรรเจิดไอเดียทำกระเป๋าจากกาบกล้วยแบรนด์ตานี (Tanee)

กล้วยมีความผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมาช้านาน นอกจากจะนำมาบริโภคเป็นอาหารแล้ว ทุกส่วนของกล้วยยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้ ตั้งแต่ต้นจนถึงใบ ก้านกล้วยหรือต้นกล้วยทำเป็นเชือกกล้วยถักร้อยเป็นกระเป๋า ถาด และเสื้อ ใบกล้วยใช้ห่อขนม ทำกระทง หรือประดิษฐ์บายศรีใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา แต่สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนช่างสกุลบายศรี ต.เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี มีการอนุรักษ์หัตถกรรมจากภูมิปัญญาและพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากต้นกล้วยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ช่วง 3 เดือนที่ไทยล็อกดาวน์คุมการแพร่ระบาดโควิด ทำให้ชุมชนกระทบหนักจากปัญหาเศรษฐกิจซบเซา ยอดขายผลิตภัณฑ์จากต้นกล้วยภายใต้แบรนด์ ตานี (Tanee) ลดลงอย่างเห็นได้ชัด นายธนกร สดใส อายุ 33 ปี ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี เจ้าของแบรนด์ Tanee กล่าวว่า เดิมชุมชนมีภูมิปัญญาการทำบายศรีและแทงหยวกกล้วย เป็นงานช่างฝีมือที่สร้างรายได้ ถือเป็นองค์ความรู้ที่มีค่าและสะท้อนวิถีชีวิตชุมชนที่พึ่งพาธรรมชาติ โดยคนในชุมชนได้อนุรักษ์ไว้ ต่อมามีแนวคิดเพิ่มมูลค่าจากต้นกล้วย ทั้งกล้วยตานี กล้วยน้ำว้า ผลิตกระเป๋าแฟชั่นทำจากกาบกล้วย แล้วยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น หมวก กระเป๋าสะพาย กล่องใส่เอกสาร สมุดโน้ต กลุ่มวิสาหกิจชุมชนช่างสกุลบายศรียังพัฒนาและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์แบรนด์ Tanee เป็นกระเป๋าจากกาบกล้วยที่เหมือนการใช้กระเป๋าหนัง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกับนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี ทำให้ผลิตภัณฑ์ทั้งกันน้ำ กันเชื้อรา และทนทาน อายุใช้งานนาน แบรนด์ไทย Tanee กำลังไปได้ดี แต่โควิดฉุดให้ยอดขายหายไปเกือบ 100% เพราะห้างปิด แหล่งท่องเที่ยวปิด ตลาดนัดศิลปะเลื่อนออกไป แหล่งศึกษาเรียนรู้ช่างสกุลบายศรีก็จัดกิจกรรมไม่ได้ ขาดรายได้หล่อเลี้ยงชุมชน โดยจะหาวิธีจะรุกช่องทางตลาดออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและปรับตัวรับโควิดอีกทางหนึ่ง นายธนกร กล่าวต่อว่า สำหรับขั้นตอนการผลิต เมื่อได้ต้นกล้วยมาแล้ว จะตัดเป็นท่อน ๆ ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร กล้วย 1 ต้นจะได้ 4 – 5 ท่อน อยู่ที่ความยาวของต้น จากนั้นแกะเอากาบออกเป็นชิ้น ใช้มีกรีดเปลือกนอนออกให้เหลือกาบในเป็นชิ้นบาง ๆ ก่อนจะนำไปตากแดดประมาณ 3 - 4 แดด เมื่อกาบแห้งได้ที่ จึงนำเอาไปรีดกับเตารีดไฟฟ้าให้เป็นแผนเรียบ เป็นผืนโดยเอากระดาษสารองติดทับกับกาบกล้วยกลายเป็นแผ่นเดียวกันตามขนาดที่ต้องการ จากนั้นนำแผ่นที่ได้ไปเข้านวัตกรรมอัดรีดด้วยความร้อน เพื่อไล่ความชื้นออก จะได้แผ่นกาบกล้วยที่ไม่เปียกน้ำ และไม่ขึ้นรา หลังจากนั้นจึงนำไปสร้างผลิตภัณฑ์ตามแบบที่ต้องการ โดยผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นล้วนแต่เกิดจากแรงบันดาลใจ ความใส่ใจ และจินตนาการใช้ธรรมชาติมาช่วยแต่งแต้มสีสันให้มีความงดงามในรูปแบบตามจินตนาการกลายเป็นอัตลักษณ์ของวิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี ที่ได้มีการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่อง นายธนกร กล่าวต่อ โดยผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นอย่างกระเป๋าใบขนาดเล็ก จะมีความยากแตกต่างกับใบใหญ่ เพราะการไล่เฉดสีถ้าไม่เข้าใจสีที่ธรรมชาติให้มา กระเป๋าใบนั้นก็จะไม่มีมิติไม่มีความเป็นตัวตน อย่างต้นกล้วย 1 ต้น จะได้กระเป๋า 1 ใบ ให้เฉดสีที่แตกต่างกัน เอกลักษณ์จุดเด่นของกาบกล้วยตานี คือ 1 ต้น 1ใบ ไม่เหมือนใคร ส่วนความนิยมขณะนี้เรียกได้ว่าเป็นเทรนด์ของโลก หรือ งานรักษ์โลก ถือเป็นงานรีไซเคิลเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ ส่วนเรื่องความคงทนของกระเป๋าเปรียบได้กับความคงทนเสมือนหนังที่เป็นงานธรรมชาติ แต่ไม่ได้เทียบเท่าของหนัง อายุการใช้งานประมาณ 5 ปีขึ้นไป แต่หากดูแลใส่ใจดีจะอยู่ได้ประมาณ 10 ปี ตามผลวิจัยนวัตกรรมกาบกล้วยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากกรมพัฒนาชุมชน เบื้องได้ส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ราคาเริ่มตั้งตั้งแต่หลักพันบาทไปจนถึงหลักหมื่นบาท สำหรับท่านที่สนใจผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ Tanee ซึ่งนำต้นกล้วยที่มองว่าไร้ค่า กลายมาเป็นนวัตกรรมใหม่ ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี ที่นำแนวคิดสร้างสรรค์ ออกแบบชิ้นงานได้อย่างลงตัว สวยงาม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นนวัตกรรมรักษ์โลกด้วย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณธนากร สดใส โทร 099-1499746

https://drive.google.com/file/d/1Ow2aPnxRETAppaqXPuA5Axt1hfeSbBsT/view?usp=sharing

สุจินต์ นฤภัย(เต้) จ.ราชบุรี

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link