ตั๋วรูปพรรณช้างกับมาตรการการป้องกันการนำช้างป่ามาสวมสิทธิ์เป็นช้างบ้าน

รู้จากข่าว…ตั๋วรูปพรรณช้างกับมาตรการการป้องกันการนำช้างป่ามาสวมสิทธิ์เป็นช้างบ้าน

จากกรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตรวจยึด – จับกุม ผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า นำช้างป่ามาสวมตั๋วรูปพรรณเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา

ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากมีผู้ขอโอนตั๋วรูปพรรณช้างเข้าอำเภอเมืองกาญจบุรี แต่นายทะเบียนตรวจพบไมโครชิพซึ่งไม่ตรงกับในตั๋วรูปพรรณ จึงดำเนินการเจาะเลือดช้างดังกล่าวเพื่อตรวจ DNA ก่อนอายัดช้างไว้ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง

เหตุการณ์ดังกล่าวถูกเปิดเผยขึ้นเมื่อหน่วยพญาเสือได้ตรวจสอบข้อมูล และพบว่า “ช้างพลายคำน้อย” ที่แจ้งว่าเกิดจาก “แม่ช้างพังคำศรี” ที่ อ.แม่ระมาด จ.ตาก เมื่อวันที่ 9 ม.ค.61 ที่ผ่านมา โดยฝังไมโครชิพ หมายเลข 7110361060 เจ้าของชื่อ นายนิมอ (ขอสงวนนามสกุล) เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง อยู่บ้านป่าสัก ต.แม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก โดยมีนายเกรียงศักดิ์ บุญตาปวน ปลัด อ.แม่ระมาด จ.ตาก เป็นนายทะเบียนที่ระบุในตั๋วรูปพรรณ

ต่อมาเจ้าของ คือ นายนิมอ ได้ขายพลายคำน้อยให้นาย Kenji ต.วังด้ง อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 4 ก.ย.62 ในราคา 800,000 บาท (แต่นาย Kenji บอกว่าซื้อราคา 1.6 ล้านบาท ซึ่งไม่ตรงกัน) โดยมีนายหน้าเป็นชายชาวกะเหรี่ยง 2 คน คือ นายวันชัย และนายโชคชัย และช้างพลายคำน้อยได้โอนกรรมสิทธิ์ให้นาย Kenji เรียบร้อยแล้ว

เจ้าหน้าที่หน่วยพญาเสือจึงเดินทางไปตรวจสอบที่ อ.แม่ระมาด เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.63 พร้อมเจาะเลือดพังแม่คำศรีส่งหน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าเพื่อตรวจ DNA ป้องกันความผิดพลาด และขอข้อมูลสัญญาการซื้อขาย จากนายทะเบียน ผลตรวจ DNA พบว่า “ช้างพลายคำน้อย” ของนาย Kenji ไม่ใช่ช้างตัวเดิมของนายนิมอ และไม่ใช่ลูกที่เกิดจากแม่ช้างพังคำศรี ทั้งนี้ยังได้ตรวจสอบเปรียบเทียบ DNA กับลูกช้างตัวอื่นที่จดทะเบียนที่อำเภอแม่ระมาด ก็ไม่ตรงกันกับที่แจ้งไว้แต่อย่างใด

หากยังจำได้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ร่วมกับกรมการปกครอง และกรมปศุสัตว์ ดำเนินการเก็บตัวอย่างเลือด เส้นขน และเนื้อเยื่อของช้าง สำหรับตรวจสอบรหัสพันธุกรรม (DNA) โดยกำหนดให้เจ้าของช้างหรือควาญช้างหรือผู้ครอบครองช้างทั้งที่มีหรือไม่มีตั๋วรูปพรรณนำช้างมาลงทะเบียนเพื่อตรวจรหัสพันธุกรรม (DNA) โดยหน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นผู้ดำเนินการสกัดสารพันธุกรรม (DNA) ของช้างเพื่อป้องกันการนำช้างป่ามาสวมสิทธิ์เป็นช้างบ้าน

กลับไปที่เหตุการณ์ดังกล่าว เมื่อทราบผลตรวจ DNA และตรวจสอบตั๋วรูปพรรณที่เกี่ยวข้องแล้ว เจ้าหน้าที่จึงได้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดเข้าตรวจสอบ บริษัทช้างแม่น้ำแคว จำกัด (แค้มป์ช้างวังจาน) ตั้งอยู่ที่ อ.เมืองกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นการตรวจสอบต่อเนื่อง จึงได้พบกับนาย Kenji ผู้แทนบริษัทฯ และเป็นผู้ครอบครองช้างตัวดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงเหตุในการตรวจสอบ นาย Kenji รับทราบและให้ความร่วมมือในการนำตรวจสอบ คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผลการตรวจความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม จำนวน 3 ครั้ง ช้างพลายคำน้อย ไม่ได้มีความสัมพันธ์เป็นแม่-ลูกกับ แม่ช้างพังคำศรี ตามตั๋วรูปพรรณ ส.พ.5 ที่ออกโดยนายทะเบียนท้องที่อำเภอแม่ระมาดแต่อย่างใด

ดังนั้นการแสดงตั๋วรูปพรรณ ส.พ.5 เล่มที่ 4211 เลขไมโครชิพ 7110361060 และหลักฐานการเคลื่อนย้ายช้าง ซึ่งอ้างว่าเป็นช้างบ้านในการครอบครองเป็นการแสดงเอกสารอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่มีความเห็นว่าการครอบครองช้างพลายคำน้อย ของนาย Kenji เป็นความผิดฐาน “ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” ตาม ม.17 และ ม.92 พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และฐาน “แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ตาม ม.137 ประมวลกฎหมายอาญา โดยสัตว์ป่าของกลางขออนุมัติพนักงานสอบสวนนำมาเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และให้สัตวแพทย์ดูแลสุขภาพไปจนกว่าจะย้ายช้างไปดูแลในสถานที่เหมาะสมต่อไป…

ที่มา ประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link