กทม.บริหารจัดเก็บมูลฝอยติดเชื้อไม่ให้ตกค้าง – รณรงค์แยกทิ้งจากมูลฝอยทั่วไป

กทม.บริหารจัดเก็บมูลฝอยติดเชื้อไม่ให้ตกค้าง – รณรงค์แยกทิ้งจากมูลฝอยทั่วไป

นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงกลาโหม สั่งการให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาขยะติดเชื้อตกค้างว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระหว่างวันที่ 1 – 25 ก.ย.64 ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีปริมาณขยะติดเชื้อที่จัดเก็บได้รวม 3,192 ตัน หรือเฉลี่ย 128 ตัน/วัน แบ่งเป็น ขยะติดเชื้อทั่วไปจากสถานบริการด้านสาธารณสุข 1,723 ตัน หรือเฉลี่ย 69 ตัน/วัน และขยะติดเชื้อโควิด-19 จากสถานพยาบาลที่รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 สถานที่กักตัวของรัฐ โรงแรมทางเลือกสำหรับผู้กักตัว หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) โรงพยาบาลสนาม สถานที่แยกกักตัวในชุมชน และสถานที่แยกกักตัวที่บ้าน 1,469 ตัน หรือเฉลี่ย 59 ตัน/วัน โดย กทม.ได้บริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ทั้งจากโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย (Community Isolation) และการรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) รวมถึงแหล่งอื่น ๆ โดยได้จัดระบบการเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อ จัดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจและรถเก็บขนมูลฝอยเฉพาะ จัดเก็บรวบรวมขยะติดเชื้อโควิด-19 และนำไปกำจัดด้วยวิธีการเผาในเตาเผามูลฝอยติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยติดเชื้ออ่อนนุชและหนองแขม ซึ่งสามารถกำจัดขยะติดเชื้อรวม 70 ตัน/วัน สำหรับมูลฝอยติดเชื้อส่วนที่เหลือนำไปกำจัดด้วยวิธีการเผาในเตาเผามูลฝอยชุมชนที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เพื่อไม่ให้มีมูลฝอยติดเชื้อตกค้างและสุขอนามัยที่ดีของประชาชน



นอกจากนั้น กทม.ยังได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ และเน้นย้ำให้ประชาชนมีส่วนร่วมคัดแยกขยะติดเชื้อออกจากขยะทั่วไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และความปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อ โดยขอความร่วมมือประชาชนแยกทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ไม่ทิ้งปะปนกับมูลฝอยทั่วไปในครัวเรือน นำหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วใส่ถุงที่ปิดสนิท มัดปากถุงให้แน่น เขียน หรือติดหน้าถุงว่า “หน้ากากอนามัย” สำหรับประชาชนที่ใช้ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 (Antigen Test Kit : ATK) เมื่อใช้เสร็จแล้ว ให้นำใส่ถุง หรือทิ้งรวมในถุงหน้ากากอนามัยใช้แล้ว และฆ่าเชื้อโรคด้วยการราด หรือฉีดพ่นด้วยแอลกอฮอล์ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค แล้วมัด หรือปิดปากถุงให้สนิท เขียน หรือติดหน้าถุงว่า “ขยะติดเชื้อ” โดยสามารถแยกทิ้งให้รถเก็บขนมูลฝอยของสำนักงานเขต หรือทิ้งในถังรองรับหน้ากากอนามัยเฉพาะ (สีส้ม) ซึ่งตั้งวางในพื้นที่สาธารณะ ประกอบด้วย สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัด กทม. ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) และศาลาว่าการ กทม. (ดินแดง) โรงเรียนสังกัด กทม. ศูนย์กีฬา กทม. ศูนย์เยาวชน กทม. สถานีดับเพลิง สวนสาธารณะ และสถานที่สาธารณะที่เหมาะสม เช่น ตลาด วัด ชุมชน บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงานเคหะชุมชนต่าง ๆ เป็นต้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งถังรองรับมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มเติมในชุมชนให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link