พิษณุโลก ม.นเรศวร เปิดตัวเตาเผาขยะหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ขวัญใจชุมชน

พิษณุโลก ม.นเรศวร เปิดตัวเตาเผาขยะหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ขวัญใจชุมชน
คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวรนเรศวร (มน.) ร่วมกับ วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (มจ.) ร่วมพัฒนาต้นแบบเตาเผาขยะติดเชื้อและหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับการใช้งานระดับชุมชน รวมถึงสถานพยาบาลชุมชนและ อสม.ประจำบ้าน และพื้นที่ห่างไกล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรสิทธิ์ โทจำปา คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ช่วงวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-2019 เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ทีมวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร และวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ร่วมกันพัฒนาและใช้ความรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมในการสร้างต้นแบบเตาเผาขยะติดเชื้อและหน้ากากอนามัยใช้แล้ว เพื่อกรณีฉุกเฉินในการรองรับความต้องการของชุมชนในการเผาทำลายขยะติดเชื้อที่เกิดขึ้นและสนับสนุนงานด้านสาธารณสุข โดยเตาเผาต้นแบบมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับการใช้งานระดับชุมชน
ดร.อุกฤต สมัครสมาน อาจารย์ประจำวิชาภาคทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า เตาเผาขยะติดเชื้อขนาดเล็ก ใช้เผาหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วและชุดตรวจวัด ATK ที่ใช้แล้ว และขยะมูลฝอยติดเชื้ออื่น ๆ เช่น มูลฝอยที่เป็นของเหลวหรือสารคัดหลั่ง มูลฝอยที่เป็นอวัยวะหรือชิ้นส่วนของอวัยวะ มูลฝอยของมีคมติดเชื้อที่ใช้แล้ว มูลฝอยจากกระบวนการเก็บและเพาะเชื้อ และมูลฝอยที่เป็นวัคชีนที่ทำจากเชื้อโรคที่มีชีวิตและภาชนะบรรจุ เป็นต้น โดยออกแบบเป็นระบบเผาไหม้สองชั้นประสิทธิภาพสูง มีขนาดเล็ก ขนาด 30 กก./ชม และสามารถผลิตเองได้ง่าย ภายในเตาจะเกิดการเผาไหม้เชื้อเพลิงโดยใช้หลักกลศาสตร์เผาไหม้ (Combustion mechanism) และเผาไหม้ในสภาวะควบคุมอุณหภูมิ ปริมาณอากาศ และเวลา อุณหภูมิการเผาไหม้ในห้องเผาที่ 1 อยู่ในช่วง 650-700 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิเผาทำลายวัสดุอินทรีย์ และห้องเผาที่ 2 อยู่ในช่วง 800-850 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิเผาแก๊สเสียและมลพิษ มีการเติมอากาศด้วยโบลเวอร์ให้ปริมาณอากาศมากเกินพอ และมีระยะเวลาในการเผาไหม้อากาศเสียและมลพิษไม่น้อยกว่า 3 วินาที การควบคุมสภาวะของการเผาไหม้ภายในห้องเผาไหม้ ที่ 1 และ 2 จะใช้เชื้อเพลิงเสริม คือ ถ่านไม้ และแก๊ส LPG ที่สำคัญเตาเผาขยะอยู่ในงบประมาณไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
มหาวิทยาลัยนเรศวรหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เตาเผาขยะติดเชื้อจะช่วยลดขยะติดเชื้อ-แก้ปัญหามลพิษและ สามารถป้องกันและแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นการลดการใช้พลังงานและลดมลพิษที่เกิดกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอีกด้วย ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เบอร์โทรศัพท์ 08 3835 3240 (ดร.อุกฤต สมัครสมาน) Email: ukrits_a@yahoo.com


ปรีชา นุตจรัสรายงานข่าวพิษณุโลก

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link