กทม.แจงกำหนดแนวเส้นทางถนนเชื่อมวิภาวดีฯ – พหลโยธิน รองรับการเชื่อมโยงโครงข่ายจราจร


กทม.แจงกำหนดแนวเส้นทางถนนเชื่อมวิภาวดีฯ – พหลโยธิน รองรับการเชื่อมโยงโครงข่ายจราจร



นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวกรณีนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมประชาชนในเขตดอนเมืองยื่นฟ้อง กทม. ผอ.สำนักการโยธา และ ผอ.เขตดอนเมือง ต่อศาลปกครองกลาง ฐานใช้อำนาจโดยมิชอบและละเลยการปฏิบัติหน้าที่ กรณี กทม. ก่อสร้างทางหลวงท้องถิ่นสายเชื่อมระหว่างถนนวิภาวดีรังสิตกับถนนพหลโยธินว่า โครงการทางหลวงท้องถิ่นเชื่อมระหว่างถนนวิภาวดีรังสิตกับถนนพหลโยธิน เป็นโครงการที่ กทม.ดำเนินการตามที่กำหนดในแผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่งท้ายกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 สาย ง1 ซึ่งกำหนดให้เป็นถนนก่อสร้างใหม่ เริ่มต้นจากถนนวิภาวดีรังสิตที่บริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 72 สิ้นสุดที่ถนนพหลโยธิน และเชื่อมต่อกับถนนเทพรักษ์ที่ กทม.ได้เปิดการจราจรมาตั้งแต่ปลายปี 2558 ซึ่ง กทม.ได้ดำเนินโครงการตามแนวเส้นทางที่กำหนดในกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการกระจายการจราจรจากถนนวิภาวดีรังสิตไปยังถนนเทพรักษ์ ลดปริมาณการจราจรติดขัดในถนนแจ้งวัฒนะและถนนรามอินทรา นอกจากนี้ ยังสามารถรองรับการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่นอย่างทั่วถึง ได้แก่ การสัญจรทางน้ำในแนวคลองสองและคลองลาดพร้าวในอนาคต การสัญจรทางราง โดยเชื่อมโยงรถไฟฟ้าและรถไฟชานเมืองระหว่างสายสีเขียว (สถานีสะพานใหม่และสถานีสายหยุด) กับสายสีแดง (สถานีการเคหะและสถานีดอนเมือง) รวมทั้งอำนวยความสะดวกการเดินทางเชื่อมต่อท่าอากาศยานดอนเมือง

สำหรับกรณีที่ผู้ร้องเรียนระบุแนวเส้นทางไม่ได้ออกแบบเป็นเส้นตรง ทำให้กระทบกับชุมชนนั้น แนวเส้นทางที่ กทม.ดำเนินการมีความเหมาะสมในการเชื่อมโยงโครงข่ายการจราจร รวมทั้งลดผลกระทบจากการเวนคืนที่อยู่อาศัยของประชาชน เนื่องจากแนวเส้นทางดังกล่าวผ่านพื้นที่พักอาศัยน้อยราย หากออกแบบแนวเส้นทางตามที่ผู้ร้องเสนอ จะกระทบกับประชาชนจำนวนมาก ขณะเดียวกันยังพิจารณาในด้านการจราจรเป็นหลัก เพราะมีแนวสายทางถนนเทพรักษ์ที่ก่อสร้างมาก่อนแล้ว การต่อเชื่อมเป็นเส้นตรงไปออกถนนวิภาวดีรังสิตไม่สามารถทำได้ เนื่องจากจะตัดผ่านหัวทางวิ่งสนามบินดอนเมือง ดังนั้น เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อแนวเส้นทางถนนระหว่างซอยวิภาวดีรังสิต 72 และแนวถนนซอยพหลโยธิน 50 จึงต้องออกแบบถนนอีกแนวมาตัดกัน ทำให้รูปแบบโครงการมีลักษณะคล้ายรูปตัวเอส (S) นอกจากนี้ ยังเป็นโครงข่ายการเดินทางตามแนวตะวันออก-ตะวันตก จากถนนวิภาวดีรังสิตถึงถนนสุขาภิบาล 5 และจะต่อไปถึงถนนนิมิตใหม่ (ตามแนวผังเมือง กทม.2556) รวมทั้งในอนาคตยังมีการก่อสร้างทางพิเศษฉลองรัช-สระบุรี ซึ่งประชาชนสามารถเดินทางจากด่านเก็บค่าผ่านทางจตุโชติไปยังสนามบินดอนเมืองโดยทางสายนี้ เป็นทางเลือกของประชาชนที่มาจากต่างจังหวัดไปสนามบินดอนเมือง แทนการเดินทางผ่านทางรังสิตได้อีกด้วย

ส่วนกรณีบ้านของชาวชุมชนร่วมมิตรแรงศรัทธา จำนวน 174 หลัง ซึ่งอยู่ในแนวเขตทางที่จะก่อสร้างถนนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนวิภาวดีรังสิตกับถนนพหลโยธิน พ.ศ.2561 นั้น เป็นผู้อาศัยอยู่ในที่ดินของรัฐ หรือบุกรุกที่สาธารณะ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งสำนักการโยธาได้ชี้แจงทำความเข้าใจให้ชาวชุมชนทราบถึงโครงการดังกล่าว พร้อมเข้าสำรวจแล้วเมื่อวันที่ 8 ก.พ.64 และได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2562 ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวมีการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้เป็นอุปสรรคในการทำงานของเจ้าหน้าที่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ผู้บุกรุกที่ดินของรัฐจะได้รับการช่วยเหลือเฉพาะค่าชดเชยตามมาตรา 63 เท่านั้น โดยไม่ได้รับสิทธิอุทธรณ์ใด ๆ ตามมาตรา 49 เหมือนดังผู้ที่ได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 40 เช่น เจ้าของที่ดินที่ต้องเวนคืน หรือเจ้าของโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีอยู่ในที่ดินที่ต้องเวนคืนนั้น รวมทั้งการประกาศราคาเฉพาะกรณีราคาเบื้องต้น ก็จะกำหนดให้กับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์โดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 40 เช่นกัน ดังนั้น การปิดประกาศแจ้งให้ผู้ถูกเวนคืนมาพบ เพื่อรับรู้การรับเงินค่าชดเชยของแต่ละรายโดยไม่ระบุตัวเลข จึงเป็นสิทธิเฉพาะบุคคลเท่านั้น

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link