ดิจิทัลช่วยให้ชีวิตปลอดภัย ด้วยระบบตรวจสารพิษตกค้างแบบพกพา

ดิจิทัลช่วยให้ชีวิตปลอดภัย ด้วยระบบตรวจสารพิษตกค้างแบบพกพา

ด้วยวิสัยทัศน์ “เป็นกองทุนชั้นนำในการผลักดันและเพิ่มขีดความสามารถการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล” ของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และบุคคลทั่วไป ที่มีแนวคิดในการวิจัยและพัฒนา ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ที่เป็นประโยชน์ต่อการให้บริการสาธารณะ และไม่เป็นการแสวงหากำไร โดยไม่เป็นการทำลายการแข่งขันอันพึงมีตามปกติวิสัยของกิจการภาคเอกชน ให้ยื่นข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรม เพื่อขอรับการส่งเสริมสนับสนุนทุน ตามมาตรา 26 (1)
โครงการระบบตรวจสอบสารพิษตกค้างแบบพกพาที่ทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟน เป็นหนึ่งในความสำเร็จที่เกิดขึ้นจาการสนับสนุนทุนของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ด้าน Health Technology ที่ช่วยให้บุคลากรด้านสาธารณสุขและประชาชนทั่วไป ได้นำระบบไปใช้ให้เกิดประโยชน์

โดย ดร.อมร จิรเสรีอมรกุล หัวหน้าวิศวกรวิจัยของ บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการระบบตรวจสอบสารพิษตกค้างแบบพกพา ที่ทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟน เป็นการต่อยอดไมโครชิพอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีคลื่นความถี่แบบไร้สายระยะใกล้ หรือ NFC ที่สามารถอ่านค่าได้ด้วยสมาร์ทโฟน เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ตรวจวัดอัจฉริยะ (Smart Sensor) เพื่อการวัดและการอ่านค่าองค์ประกอบต่าง ๆ ภายใต้ความร่วมมือของบริษัทกับทีมนักวิจัยชั้นนำระดับประเทศจากหลากหลายหน่วยงาน ได้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
“ ด้วยคณะผู้วิจัยมองว่า การตรวจสอบสารพิษแบบเดิมนั้น มีขั้นตอนต่าง ๆ มากมายและต้องดำเนินการในห้องปฏิบัติการ ซึ่งใช้เวลานาน มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง จึงมุ่งเป้าที่จะพัฒนาให้เกิดระบบการตรวจสอบที่ง่าย สะดวกต่อผู้ใช้งาน และตรวจวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ อีกทั้งสามารถตรวจวัดนอกสถานที่ได้ ที่สำคัญมีราคาถูก”
ระบบตรวจสอบสารพิษตกค้างแบบพกพาที่ทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟน ได้มีการพัฒนาระบบตรวจสอบที่ตอบโจทย์ตามความต้องการใช้งานออกมาได้ถึง 2 รูปแบบ คือ หนึ่ง ชุดตรวจวัดสารกำจัดแมลง ซึ่งสามารถตรวจสอบสารปนเปื้อนในผักและผลไม้ ที่เป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต คาร์บาเมต และไพรีทรอยด์ และสอง ชุดตรวจวัดปริมาณสารโลหะหนักเชิงเคมีไฟฟ้า ซึ่งสามารถตรวจวัดค่าโลหะหนักในแหล่งน้ำต่าง ๆ ได้หลายชนิด อาทิ สารหนู แคดเมียม โครเมียม ตะกั่ว และปรอท
“ด้วยหลักการทำงานที่ง่าย จึงทำให้สะดวกมากกับการใช้งาน อย่างชุดตรวจวัดปริมาณสารโลหะหนัก เมื่อต้องการใช้งาน เพียงนำเซ็นเซอร์ทดสอบสารโลหะหนักชนิดที่ต้องการเสียบเข้ากับการ์ดอ่านค่าเซ็นเซอร์เคมีไฟฟ้า Potentiostat แบบ NFC แล้วเปิดแอพพลิเคชั่น จากนั้นนำสมาร์ทโฟนมาวางบริเวณจุดรับสัญญาณ NFC แอพพลิเคชั่นจะแจ้งเตือนให้ทำการหยดตัวอย่างน้ำที่ผสมกับน้ำยาให้ครอบคลุมบริเวณขั้วไฟฟ้า หลังจากนั้นระบบจะทำการตรวจวิเคราะห์และรายงานค่าให้ทราบเป็นตัวเลขได้ทันที ” ดร.อมรกล่าวถึงหลักการทำงานของระบบ
จากการที่ได้ติดตามข่าวประชาสัมพันธ์ของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อย่างต่อเนื่องผ่านทางเว็บไซต์ https://defund.onde.go.th จึงทำให้ทราบถึงการเปิดโอกาสให้ยื่นข้อเสนอแผนงานหรือโครงการ เพื่อรับการสนับสนุนทุนตามมาตรา 26 (1) และ (2) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
“ ในการยื่นขอรับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สิ่งที่สำคัญคือ การใช้ประโยชน์ของโครงการที่พัฒนา ต้องเขียนให้ชัดเจนว่า สิ่งที่พัฒนาขึ้นช่วยตอบโจทย์การพัฒนาต่อเศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติ อย่างไร โครงการฯ ที่นำเสนอ ได้เริ่มจากปัญหา และการหาแนวทางแก้ไข และเน้นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งทำให้การเขียนข้อเสนอโครงการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการให้การสนับสนุนของกองทุนฯ จึงทำให้ได้รับการพิจารณาอนุมัติโครงการ” ดร.อมรกล่าว
โครงการระบบตรวจสอบสารพิษตกค้างแบบพกพาที่ทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟน จึงเป็นอีกหนึ่งต้นแบบความสำเร็จของการพัฒนา จนได้เทคโนโลยีดิจิทัลจากฝีมือของคนไทย ที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพต้นทุนการผลิตต่ำ นำมาซึ่งประโยชน์ในการสร้างความปลอดภัยให้กับชีวิตคนไทยทั้งประเทศ จากพลังแห่งการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link