ยกระดับการเรียนการสอน รร.กทม.ตอบสนองทุกช่วงวัย – พร้อมเปิดพื้นที่โรงเรียนสู่การเรียนรู้


ยกระดับการเรียนการสอน รร.กทม.ตอบสนองทุกช่วงวัย – พร้อมเปิดพื้นที่โรงเรียนสู่การเรียนรู้



นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. กล่าวถึงการพัฒนาคุณภาพหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียน (รร.) สังกัด กทม.ว่า โรงเรียนสังกัด กทม.ทั้ง 437 โรงเรียน มีการจัดการเรียนการสอนที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนทุกช่วงวัยตามความถนัด ความสนใจ และความต้องการของผู้เรียน พร้อมทั้งสอดแทรกทักษะและความรู้ด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนมีคุณภาพด้านความรู้ และทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 โดยมีแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับความถนัดและความต้องการของผู้เรียนทุกระดับชั้นเรียนในรูปแบบ Onsite รวมทั้งเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบอื่น ๆ ได้แก่ Online On Hand On Air และ On School Line ไว้รองรับเมื่อเกิดสถานการณ์ หรือเหตุการณ์พิเศษอื่น ๆ ที่ส่งผลให้ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบปกติได้ ขณะเดียวกันได้มีแนวทางพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้ เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา สู่ความเป็นเลิศ ประกอบด้วย (1) การจัดการศึกษาทุกระดับด้วยหลักสูตรฐานสมรรถนะและแนวทางการจัดการเรียนรู้เชิงรุกและการวัดประเมินผล (2) มีระบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาอย่างมีประสิทธิผล และมีแนวทางคัดเลือกผู้เรียนเข้าศึกษาต่อด้วยวิธีการที่หลากหลาย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (3) สถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และมีธรรมาภิบาล เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาทุกระดับตามปรัชญาและเป้าหมายของสถานศึกษาและมีระบบความรับผิดชอบทางการศึกษา (Educational Accountability) บนพื้นฐานสมรรถนะหลักของผู้เรียน และ (4) ปฏิรูปการศึกษา โดยเพิ่มจำนวนผู้เรียนในสาขาที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชนและประเทศและผู้จบการศึกษามีงานทำ ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ เก่งปฏิบัติ มีสมรรถนะเป็นที่ยอมรับ หรือผ่านการฝึกงานในสถานประกอบการและผู้เรียนมีความสามารถที่จะเป็นผู้ประกอบการได้เอง

นอกจากนั้น กทม.อยู่ระหว่างเสนอขอจัดตั้งเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (Education Sandbox) หากได้รับการประกาศเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแล้ว กทม.จะสามารถสร้างหลักสูตรและวิธีการจัดการเรียนรู้ของตนเองได้อย่างอิสระ โดยสำนักการศึกษาจะประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนสร้างและพัฒนากลไกการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา การเปิดโรงเรียนสู่การเรียนรู้ (Open Education) โดยรับสมัครและคัดเลือกครูอาสาจากภาคประชาชนและเอกชนจัดกิจกรรมการเรียนรู้ วิชาการ ทักษะชีวิต และอาชีพที่โรงเรียน ตามความสนใจของนักเรียนทั้งในและนอกเวลาเรียน เพื่อตอบสนองนโยบายด้านการศึกษา ได้แก่ เปิดโรงเรียนวันหยุดเป็นพื้นที่กิจกรรม พื้นที่การเรียนรู้สำหรับนักเรียนและชุมชน (Saturday School), After School Program เรียน เล่น หลังเลิกเรียน, สร้างเครือข่ายร่วมกับภาคเอกชน โครงการพี่สอนน้องนอกเวลาเรียน, วิชาชีพเลือกเสรีสำหรับนักเรียน, เพิ่มครูผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ช่วยครู สำหรับวิชาเฉพาะทาง เช่น ภาษา เทคโนโลยี และ Digital Talent ผู้ช่วยด้านเทคโนโลยีให้กับครู

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link