สน.ราษฎร์บูรณะ ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 54 ทัศน์เอี่ยม ให้ความรู้เชิงป้องกันภัยจากกลโกงออนไลน์

วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 เวลา 13.00 น.

พ.ต.อ.วัชรพล สุวนันทวงศ์ผกก.สน.ราษฏร์บูรณะ พ.ต.ท.เอกพจน์ สังเมียน
รอง ผผก.ป.สน.ราษฏร์บูรณะ ร.ต.ต.สำรวย ทวีการไถ รอง สว(ป.)สน.ราษฏร์บูรณะ พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจชุมชนสัมพันธ์ ร่วมกับ นาง เตือนใจ บุญศิริเอื้อเฟื้อ ประธานชมรมผู้สูงอายุศูนย์บริการสาธารณสุข 54 ทัศน์เอี่ยม

นางสาว ชลิตา เจริญปัดถวี
นักสังคมสงเคราะห์ปฏิบัติการ เข้าร่วมอบรมให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุ ตามโครงการ การดูแลผู้สูงอายุ ระยะยาวเชิงป้องกัน (Preventive Long Term Care : PLC) ชมรมผู้สูงอายุศูนย์บริการสาธารณสุข 54 ทัศน์เอี่ยม
ณ อาคาร 2 ชั้น 2 ศบส.54 ทัศน์เอี่ยม แขวง บางมด เขต ทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร

โดยมีผู้สูงอายุเข้าร่วมอบรมในวันนี้ 33 คน และการอบรมในวันนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายในชีวิตประจำวัน และรู้เท่าทันกลโกงบนโลกออนไลน์ โดยมี ร.ต.ต.สำรวย ทวีการไถ รอง สว(ป.)สน.ราษฏร์บูรณะ มาให้ความรู้แก่ผูเข้าอบรมทุกท่าน และยังมีการอบรมให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุ ตามโครงการ การดูแลผู้สูงอายุ ระยะยาวเชิงป้องกัน (Preventive Long Term Care : PLC) โดยมี นาง เตือนใจ บุญศิริเอื้อเฟื้อ ประธานชมรมผู้สูงอายุศูนย์บริการสาธารณสุข 54 ทัศน์เอี่ยม และ นางสาว ชลิตา เจริญปัดถวี นักสังคมสงเคราะห์ปฏิบัติการ เป็นวิทยากร และเข้าร่วมอบรมให้ความรู้ แก่ผู้สูงอายุ ตามโครงการ การดูแลผู้สูงอายุ ระยะยาวเชิงป้องกัน (Preventive Long Term Care : PLC) ซึ่งบรรยากาศภายในงานกิจกรรมในวันนี้ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับความความสนุก ความเข้าใจ และ ได้รับความรู้ในการใช้ชีวิตอย่างไรให้รู้เท่ากลโกงบนโลกออนไลน์ รวมทั้งยังได้รับความรู้เกี่ยวกับเรื่องของกฏหมายในชีวิตประจำวันอีกด้วย ซึ่งวิทยากรได้ใช้ภาษาพูดที่ผู้เข้าอบรมซึ่งเป็นผู้สูงอายุเข้าใจง่าย แล้วมีความสนุกสนานในด้านการนำเสนอโดยไม่ได้ทำให้บรรยากาศของการอบรมเป็นที่ตึงเครียดจนเกินไปและยังเน้นย้ำถึงการให้ความรู้อย่างเข้าใจแล้วนำไปใช้ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไปเพื่อเป็นการปกป้องตนเองจากมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบใหม่ในยุคของปัจจุบัน

ซึ่งการทำธุรกรรมออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้ทุก ๆ คนก็สามารถที่จะกลายเป็น ผู้ซื้อและผู้ขาย ผ่านทาง Social Media ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงธุรกิจ E-Commerce ที่สนับสนุนการให้กับผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อพูดคุยกันได้ง่ายขึ้น โดยการทำธุรกรรมออนไลน์มีหลายรูปแบบ เช่น พรีออเดอร์ (การสั่งซื้อสินค้าต่างประเทศโดยจ่ายเงินก่อนนัดส่งสินค้า) การซื้อขายตาม Social Media เช่น Facebook , Instagram หรือ Line@ หรือ การทำธุรกรรมอื่น ๆ ทางออนไลน์ ซึ่งกลโกงมักแอบแฝงอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้ หากไม่ระวัง ก็อาจตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพได้

ในหลักกลโกงของมิจฉาชีพในยุคปัจบันจะแบ่งได้เป็น 18 ข้อหลักขอแก๊งมิจฉาชีพที่ใช้กันอยู่บ่อยครั้ง ได้แก่

1) หลอกขายสินค้าออนไลน์ แต่ไม่ได้รับสินค้า / หรือได้รับสินค้าแต่ไม่ตรงตามโฆษณา

2) หลอกให้ทำงานเสริมออนไลน์ โดยชักชวนทำงานออนไลน์ที่ไม่มีอยู่จริง อ้าง PLATFORM ที่น่าเชื่อถือ เช่น TikTok Youtube Lazada เป็นต้น โดยหลอกลวงให้ กด LIKE กด SHARE เพื่อเพิ่มยอดวิว แกล้งรับออเดอร์ ทำสต็อกสินค้า แต่สุดท้าย หลอกเอาเงินที่อ้างว่าเป็นเงินค้ำประกันจากท่าน (เหยื่อ)

3) เงินกู้ออนไลน์ (เงินกู้ทิพย์) ไม่ได้เงินจริง หลอกเอาข้อมูล เงินค้ำประกัน ค่าธรรมเนียม เลขที่บัญชีธนาคารจากเหยื่อ (ดอกเบี้ยโหด) โฆษณาชวนเชื่อ กู้โดยไม่ต้องมีหลักค้ำประกัน หลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคลในโทรศัพท์ของท่าน (เหยื่อ) เพื่อโทรตามทวงหนี้คนใกล้ชิด เรียกดอกเบี้ยโหด และให้ชดใช้หนี้ไม่มีหมด

4) ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว (Call Center) โทรศัพท์มุ่งเป้าหาเหยื่อ โดยแจ้งว่า ท่านเกี่ยวข้องกับการส่งพัสดุผิดกฎหมาย การกระทำผิดกฎหมาย หรือโดนอายัดบัญชีธนาคาร แล้วอ้างเป็นตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ข่มขู่เรื่องกฎหมายฟอกเงิน ให้ท่าน (เหยื่อ) โอนเงินโดยพลการ

5) หลอกลวงให้ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ โดยอ้างเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ชักชวนให้ลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีจริง ให้ผลตอบแทนสูง สร้างภาพความน่าเชื่อถือ เช่น ลงทุนในธุรกิจน้ำมัน พลังงาน ทองคำ เงินดิจิทัล ตลาดหุ้น Forex ตลาดหลักทรัพย์ต่างชาติ เกมออนไลน์ เป็นต้น

6) หลอกให้รักแล้วลงทุน โดยปลอมแปลง PROFILE เป็นบุคคลหน้าตาดี เข้ามาตีสนิทจาก APP หาคู่ /หรือบัญชีออนไลน์ สอนให้ลงทุน แล้วหลอกให้ลงทุนใน APP หรือโปรแกรมลงทุนปลอม เช่น เทรดหุ้นปลอม เงินดิจิทัลปลอม สกุลเงินปลอม ทองคำทิพย์ เป็นต้น

7) หลอกให้รักแล้วโอนเงิน / หรือยืมเงิน โดยปลอม PROFILE เป็นบุคคลหน้าตาดี ทำความรู้จักผ่านบัญชีออนไลน์ ตีสนิทหลอกให้รัก ทำทีจะส่งทรัพย์สินมาให้จากต่างประเทศ แต่สุดท้าย ลวงเอาเงินค่าธรรรมเนียมต่าง ๆ หรือ หลอกให้โอนเงิน โดยอ้างว่าจะคืนให้หลายเท่าตัว

8) ปลอม /หรือ HACK บัญชี LINE / Facebook แล้วมาหลอกยืมเงิน เพื่อให้ส่งข้อความขอยืมเงินจากเพื่อนเจ้าของบัญชีตัวจริงที่หลงเชื่อ

9) แชร์ลูกโซ่ โดยหลอกให้ร่วมลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีอยู่จริง เน้นให้เสาะหาเครือข่าย สร้างรายได้จากการเพิ่มสมาชิก

10) การพนันออนไลน์ โดยโฆษณาชวนเชื่อ หว่านล้อมด้วยวิธีการต่าง ๆ ให้ค่าน้ำ (ค่าเสียเวลา) คืนให้แก่ผู้เล่น และแจกสูตรการันตีผลตอบแทนที่ไม่มีจริง

11) หลอกให้ LOAD โปรแกรมควบคุมคอมพิวเตอร์ทางไกล (เพื่อขโมยข้อมูล) โดยอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หลอกให้โหลดโปรแกรมควมคุมทางไกล เพื่อถอนเงินจากบัญชีของท่าน (เหยื่อ)

12) ส่ง QR Code หลอกให้โอนเงิน โดยคนร้ายอ้างว่า จะคืนค่าสินค้า โดยหลอกให้เหยื่อสแกน QR Code ซึ่งเป็นการโอนเงินให้แก่คนร้าย บางกรณี จะเป็นการให้กรอกข้อมูลบัญชีธนาคารของท่าน และรหัสผ่านเพื่อขโมยเงินของท่าน (เหยื่อ)

13) ฉ้อโกงรูปแบบอื่น โดยหลอกลวงด้วยเรื่องราวต่าง ๆ ให้ท่านโอนเงินให้คนร้าย เช่น ผู้โชคดีได้รับรางวัล ได้ซื้อสินค้าราคาพิเศษ ได้โรงแรมที่พักฟรี ได้สิทธิ์พิเศษต่าง ๆ เป็นต้น แต่ต้องชำระค่าธรรมเนียมก่อนล่วงหน้าให้คนร้าย ซึ่งแอบอ้างเป็นหน่วยงาน เช่น ธนาคาร การไปรษณีย์ กรมศุลกากร เป็นต้น โดยส่ง LINK ปลอม เพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคล ขโมยเลขที่บัญชีธนาคาร รหัส Password เป็นต้น

14) โฆษณาเชิญชวนไปทำงานต่างประเทศ โดยหลอกให้หลบหนีออกนอกประเทศ บังคับกักขังให้ทำงานผิดกฎหมาย ใช้แรงงานเยี่ยงทาส

15) หลอกลวงให้ถ่ายภาพโป๊เปลือย ลามก อนาจาร เพื่อใช้ข่มขู่เรียกเงินจากท่าน (เหยื่อ)

16) ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) และร่วมกันกระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ฟอกเงิน

17) ข่าวปลอม (Fake News) ซึ่งแชร์ข่าวจากแหล่งข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ เช่น ข้อความลูกโซ่ที่ส่งต่อกันทางไลน์ เป็นต้น

18) เรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์ (Ransomware) Lock รหัส Files Folders ในคอมพิวเตอร์เพื่อใช้เรียกเงินจากท่าน (เหยื่อ)

ส่วนในเรื่องของกฏหมายในชีวิตประจำวันในยุคปัจจุบัน ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์ที่จะต้องตกเป็นเหยื่อของมิฉาชีพซึ่งมาในรูปแบบของการขายสินค้าออนไลน์ และการถูกฉ้อโกงต่างๆ อย่างแรกในการปฏิบัติง่ายๆจะต้องนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดไปแจ้งต่อหน้าเจ้าพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจในพื้นที่ใกล้บ้าน เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจรับแจ้งความแล้วจะดำเนินการดังนี้
1. ลงบันทึกประจำวันรับแจ้งความดำเนินคดี (สามารถขอคัดถ่ายสำเนาได้)
2. สอบปากคำผู้แจ้งให้ทราบถึงรายละเอียดพฤติการณ์ในคดี
3. ทำการออกหมายเรียก เจ้าของบัญชีที่ผู้เสียหายได้โอนเงินไปให้ มาให้ปากคำ ถ้าไม่มาตามหมายเรียก 2 ครั้ง เป็นเหตุตามกฎหมายเชื่อว่าจะหลบหนี
4 .ตามข้อ 3. ตำรวจจะยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้ออกหมายจับต่อไป

ส่วนในเรื่องของการเตรียมเอกสาร บัตรประชาชนของผู้แจ้ง/ผู้เสียหาย และ หน้าประกาศ/ข้อความโฆษณาขายสินค้าใน Web Board, Page, Facebook, Instagram, Line ที่โพสต์ขายสินค้าและทำให้หลงเชื่อ
หลักฐานการโอนเงิน เช่น สลิปโอนเงิน, Statement, Mobile Banking หลักฐานในการติดต่อซื้อขายสินค้า พูดคุยต่างๆ เช่น ข้อความแชท (Chat) ที่สั่งซื้อสินค้า, หมายเลขโทรศัพท์, ข้อความ (SMS), Email Address, Line, Facebook Messenger เป็นต้น ข้อมูลผู้ขายสินค้าหรือผู้ร่วมขบวนการ เช่น ชื่อ นามสกุล, หมายเลขบัญชีธนาคารที่โอนเงินไปให้, หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ, ที่อยู่ เป็นต้น หลักฐาน/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ในการดำเนินคดี

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ประชาชนโดยทั่วไปไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ควรได้รับความรู้ข้อปฏิบัติเหล่านี้เป็นพื้นฐานเพราะสังคมสมัยนี้เป็นสังคมที่อยู่ในยุคดิจิตอล แล้วภัยที่แฝงมากับยุคสมัยใหม่ย่อมมีตามมาเสมอแก๊งค์มิจฉาชีพก็จะคิดหาวิธีใหม่ๆเพื่อฉกฉวยโอกาสจะลงมือและในปัจจุบันก็มีบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อมาแล้วมากมายตามที่เป็นข่าวในสื่อต่างๆ

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link