ราชบุรี – จิตอาสานําอีเอ็มใส่รักษาสภาพน้ำเสียอ่างเก็บน้ำไทยประจัน จิตอาสานำสาร E M ใส่อ่างเก็บน้ำไทยประจัน อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เพื่อเร่งรักษาสภาพน้ำที่เน่าเสียลอยตายเกลื่อน ด้านชลประทานประสานขอฝนหลวงช่วยเติมแหล่งน้ำ

( 27 เม.ย. 62 ) นายสุชาติ บัวบาง หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ รบ. 3 ( พุยาง ) อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี พร้อมด้วยนายวัณธ์เทวินทร เศวตฐนโภคิน ประชาชนจิตอาสา นาย อนุสรณ์ ฤทธิ์ล้ำ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 บ้านไทยประจัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ได้นำสารหัวเชื้อจุลินทรีย์จำนวน 7 แกลลอน มามอบให้กับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ต.ยางหัก อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เพื่อนำมาสาดเทลงในอ่างเก็บน้ำไทยประจัน หลังประสบปัญหาน้ำเสียปลาขาดออกซิเจนหรือน็อกน้ำลอยตายจำนวนมาก เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากเกิดปัญหาภัยแล้งน้ำในอ่างเก็บน้ำเหลือน้ำ ขณะที่ช่วงดังกล่าว ได้มีฝนตกลงมาช่วงบริเวณท้ายอ่าง และได้ไหลเข้ามาสมทบกับปริมาณน้ำในอ่างที่มีปริมาณน้ำน้อย ส่งผลให้ปลาน็อกน้ำลอยตายจำนวนมากจากส่งกลิ่นเหม็น ประชาชนท้ายอ่างประมาณ 400 หลังคาเรือนไม่สามารถใช้น้ำได้
นายวัณธ์เทวินทร เศวตฐนโภคิน ประชาชนจิตอาสา ให้ข้อมูลว่า ได้นำจุลินทรีย์ ที่มีประสิทธิภาพสูง มีตัวปรับค่า PH ซึ่งเป็นตัวปรับค่าน้ำให้เกิดความสมดุล โดยจุลินทรีย์จะเพิ่มออกซิเจนในน้ำ พร้อมกับย่อยสลายจำพวกสิ่งปฏิกูลที่อยู่ในน้ำที่เกิดเป็นแก็สขึ้นมา เจ้าหน้าที่ได้นั่งเรือพายนำไปสาดเทให้ทั่วบริเวณอ่าง จากนั้นจึงค่อยสาดจุลินทรีย์ไปให้ทั่วพื้นที่ จะใช้จุลินทรีย์ห่างกันประมาณ 2-3 วัน/ ครั้ง คาดว่าใช้จุลินทรีย์ประมาณ 3 ครั้ง ก็จะสามารถทำให้คุณภาพน้ำน่าจะมีคุณภาพดีขึ้น นอกจากนี้ขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยสังเกตจำนวนปลาตายในอ่างว่าจะมีสถิติการตายเพิ่มมากขึ้นหรือมีจำนวนลดลง ถ้าหากปลาตายน้อยลงก็จะเป็นผลดี สามารถช่วยแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียให้มีคุณภาพน้ำดีขึ้นได้
นอกจากนี้นายจิตศักดิ์ อนุศาสนนันท์ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1โครงการชลประทานราชบุรี ได้ทำหนังสือประสานถึงหัวหน้าสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เพื่อขอให้ช่วยประสานขอรับการสนับสนุนการทำฝนเทียม ไปที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ เพื่อให้เข้ามาดำเนินการช่วยเหลือเติมแหล่งน้ำในอ่างอย่างเร่งด่วนในการเร่งแก้ไขปัญหาน้ำในอ่างเก็บน้ำไทยประจัน ที่มีปริมาณน้ำเหลือน้อยเกือบติดก้นอ่างแล้วทำให้ไม่สามารถปล่อยออกไปช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและน้ำอุปโภค บริโภคแก่ชาวบ้านที่อยู่พื้นที่ด้านล่างได้ ซึ่งทางศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ ได้ประสานอาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่จัดส่งข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศแต่ละอำเภอ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทางวิทยาศาสตร์ได้ตรวจวิเคราะห์ เมื่อมีกลุ่มก้อนเมฆหนาแน่น ความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ก็จะขึ้นบินปฏิบัติการทำฝนเทียมเติมน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำไทยประจันและอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ใกล้เคียงอย่างมีประสิทธิภาพตรงตามเป้าหมายได้

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link