ปทุมธานีสหกรณ์ร่วมใจกระจายหอมแดงจากศรีสะเกษ

ปทุมธานีสหกรณ์ร่วมใจกระจายหอมแดงจากศรีสะเกษ

               วันที่ 11 มีนาคม 2564 นางฉลวย ชาญสวัสดิ์ สหกรณ์จังหวัดปทุมธานี ให้การสนับสนุนการกระจายหอมแดงเพื่อช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์  และเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงในจังหวัดศรีสะเกษ

                   สำนักงานสหกรณ์จังหวัดปทุมธานีนำโดย นางฉลวย ชาญสวัสดิ์ สหกรณ์จังหวัดปทุมธานี ร่วมกับบุคลากรของสำนักงาน และขบวนการสหกรณ์ในจังหวัดปทุมธานี ได้ร่วมมือกับสหกรณ์การเกษตรยางชุมน้อย จำกัด จังหวัดศรีสะเกษ ในการกระจายหอมแดงออกจากแหล่งผลิต เพื่อช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงในจังหวัดศรีสะเกษ เนื่องจากในช่วงนี้เกษตรกรประสบปัญหาผลผลิตหอมแดงออกสู่ตลาดจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชี้อไวรัสโคโรนา 2019  (โควิด-19) ทำให้ตลาดที่รองรับไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และส่งผลให้ราคาหอมแดงตกต่ำเป็นอย่างมาก ดังนั้น สหกรณ์การเกษตรยางชุมน้อย จำกัด จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นสหกรณ์ที่รวบรวมหอมแดงจากสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรทั่วไป ได้ประสานงานกับสำนักงานสหกรณ์จังหวัดต่างๆ โดยผ่านสำนักงานสหกรณ์จังหวัดศรีสะเกษ  แจ้งให้สหกรณ์จังหวัดประชาสัมพันธ์แก่สหกรณ์ในจังหวัดต่างๆให้ร่วมมือกันในการช่วยกระจายหอมแดงในครั้งนี้

                  ในจังหวัดปทุมธานีมีสหกรณ์ที่ช่วยกระจายหอมแดงในครั้งนี้ จำนวน 7 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์โรม อินทิเกรเต็ด ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัท เอ็นอีซี แพลทฟอมส์ไทย จำกัด สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงชุมชนหลักหก จำกัด สหกรณ์เคหสถานเก้ามงคลพัฒนา จำกัด สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนบ้านเอื้ออาทรรังสิตคลองหนึ่ง จำกัด สหกรณ์เคหสถานสร้างสรรค์นครรังสิต จำกัด และ สหกรณ์เคหสถานเจริญพัฒนา จำกัด รวมถึงหน่วยงานราชการในจังหวัดปทุมธานีที่ได้ร่วมมือกันในการกระจาย โดยมียอดการจำหน่าย จำนวน 1,000 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 25,000.- บาท หากสหกรณ์ใดหรือผู้สนใจทั่วไปที่จะสั่งซื้อสามารถติดต่อสหกรณ์การเกษตรยางชุมน้อย จำกัด จังหวัดศรีสะเกษ โทรศัพท์ 045-687015 ,            045 – 687135 โทรสาร 045 – 687035 หรือนางบุญเดือน สมใจ ผู้จัดการสหกรณ์ โทรศัพท์ 094 - 9302478

                 ทั้งนี้ ในการร่วมมือกันในการกระจายผลผลิตต่างๆ ของขบวนการสหกรณ์ทั่วประเทศ เป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายด้านสินค้าระหว่างกัน นับเป็นกิจกรรมที่เป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดให้แก่สหกรณ์ผู้ผลิต และสหกรณ์ผู้บริโภค สามารถทำให้สหกรณ์มีปริมาณธุรกิจเพิ่มขึ้นด้วย ตลอดจนเป็นการบริการสินค้าให้ถึงมือสมาชิกและผู้บริโภคให้ได้บริโภคที่มีคุณภาพ และราคายุติธรรม และเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างสหกรณ์ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการร่วมมือกันระหว่างสหกรณ์ต่างๆซึ่งเป็นไปตามหลักการสหกรณ์ข้อที่  6 คือความร่วมมือกันระหว่างสหกรณ์ทั้งปวงนั่นเอง

         อนันต์ วิจิตรประชา / ปทุมธานี

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link