“สามารถ” วางแนวทางกำกับ Government Wallet หวังปิดช่องทางฟอกเงินของอาชญากร

เมื่อวันศุกร์ที่ 19 มีนาคม 2564 เวลา 14.00 น. นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมการกำหนดแนวทางเกี่ยวกับกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลของภาครัฐ (Government Wallet) ณ ห้อง1501 ชั้น 15 อาคารสำนักงาน
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
โดยมีนายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และผู้แทนจาก 14 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ….ร่วมหารือ

นายสามารถกล่าวว่า รัฐบาลโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงการค้าไทยสู่การค้าโลก อันจะเป็นประตูสู่ความมั่งคั่งของประเทศ ซึ่งพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดปูพื้นฐานให้ประชาชนพร้อมเข้าสู่โลกดิจิทัล ดังจะเห็นได้จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาเป็นระยะโดยใช้ประชาชนมีความคุ้นเคยกับโลกเทคโนโลยี

ปัจจุบันสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากผู้ลงทุนและประชาชนมากขึ้น มีการใช้คริปโตเคอร์เรนซี เช่น บิทคอยน์ อีเธอเลียม เป็นสื่อกลาง ในการซื้อขาย แลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าและบริการในกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม หรือบางประเทศ โดยเฉพาะการชำระราคาข้ามพรมแดนโดยไม่ต้องอาศัยตัวกลาง รวมทั้งการใช้คริปโทเคอร์เรนซีในการกระทำความผิดและการฟอกเงิน จึงมีความจำเป็นในการกำหนดแนวทางเกี่ยวกับการกำกับดูแลกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งของบุคคลทั่วไป และรวมไปถึงกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลของภาครัฐ (government wallet) สำหรับเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลที่ยึดหรืออายัดมาจากผู้กระทำผิด ซึ่งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้กำชับให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย จับตาการเปลี่ยนแปลงเงินที่ได้มาจากการค้ายาเสพติด หรือ เงินที่ได้มาจากการฉ้อโกงประชาชนในลักษณะแชร์ลูกโซ่ ที่ผันมาเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากไม่สามารถระบุตัวตนของผู้ทำธุรกรรมได้ รวมทั้งมีสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นคริปโทเคอร์เรนซีประเภทที่สามารถปกปิดข้อมูลการทำธุรกรรมได้ (privacy coins) จึงอาจนำไปใช้กระทำความผิดได้ง่าย

จากข้อมูลของสำนักงานก.ล.ต. พบว่า ขณะนี้ในประเทศไทยยังไม่มีหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตผู้ประกอบธุรกิจผู้ให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่รับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset custodial wallet provider) ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจที่รับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลมูลค่าตั้งแต่ 15 ล้านบาทขึ้นไป ต้องใช้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศซึ่งไม่อยู่ภายใต้กฎหมายไทยและการกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลของไทย

ดังนั้น เพื่อให้มีการกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเหมาะสมและป้องกันไม่ให้ใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด หรือเป็นช่องทางในการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบและยึดอายัดทรัพย์สินของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน ที่ประชุมจึงเห็นชอบในการเสนอให้มีกฎหมายกลางและจัดระบบในการขึ้นทะเบียนกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล (wallet) โดยให้มีข้อมูลในการป้องกันการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการกระทำความผิดหรือฟอกเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link