ปลัด มท. และนายกแม่บ้าน มท. เปิดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ภาคกลาง ย้ำ ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันสืบสาน รักษา ต่อยอด ถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่คนรุ่นใหม่เพื่อส่งเสริมการใช้ผ้าไทยให้ยั่งยืน

ปลัด มท. และนายกแม่บ้าน มท. เปิดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ภาคกลาง ย้ำ ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันสืบสาน รักษา ต่อยอด ถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่คนรุ่นใหม่เพื่อส่งเสริมการใช้ผ้าไทยให้ยั่งยืน

วันนี้ (26 ส.ค. 66) เวลา 13.30 น. ที่ห้องเวลาดี โรงแรม ณ เวลา อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ตามโครงการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน จุดดำเนินการที่ 2 ภาคกลาง โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านกรมการพัฒนาชุมชน นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.ยงยุทธ สุวรรณบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ สมัยที่ 25 นายชูชีพ พงษ์ไชย นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายอังกูร ศีลาเทวากูล นางสาววริษฐา สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นางศรินทิพย์ ศีลาเทวากูล รองประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดราชบุรี นางสาวกุลวลี นพอมรบดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี เขต 1 นายบุญยิ่ง นิติกาญจนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี เขต 2 คณะผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดราชบุรี คณะกรรมการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับภาค ได้แก่ ดร.ศรินดา จามรมาน ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย เจ้าของแบรนด์ THEATRE นายภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ ISSUE ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมทางปัญญาและวิจัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน ประธานหลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอและเครื่องตกแต่ง วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมสีธรรมชาติ และช่างทอผ้า ผู้ประกอบการ ผู้สมัครเข้าประกวด ร่วมในพิธี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจและตื้นตันใจทุกครั้งที่ได้มีโอกาสมาร่วมกิจกรรมการประกวดผ้าและงานหัตถกรรมไทย เพราะทำให้ได้ชื่นชมผลงานที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของพี่น้องช่างทอผ้าและผู้ประกอบการซึ่งได้รับการส่งเสริมพัฒนาด้วยพลังความมุ่งมั่นตั้งใจของข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน และทุกกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้สนองงานขับเคลื่อนการน้อมนำพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาสู่พี่น้องประชาชน ยังผลทำให้เกิดการสืบสาน รักษา และต่อยอดเพิ่มพูนทักษะและศักยภาพการผลิตชิ้นงานด้วยการนำภูมิปัญญาผ้าไทยจากบรรพบุรุษมาผนวกกับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์จนกลายเป็นชิ้นงานอันทรงคุณค่า

“นับตั้งแต่กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำพระดำริสู่การขับเคลื่อนประกวดผ้าลายพระราชทานลานหัตถศิลป์หัตถกรรมพบว่า เกิดปรากฏการณ์ที่แสดงถึงพัฒนาการที่ก้าวกระโดดของพี่น้องผู้เข้าประกวดผ้าไทย ทั้งผู้ประกอบการ OTOP กลุ่มศิลปาชีพ และงานหัตถกรรมไทยทุกแขนง ที่มีทั้งเชิงปริมาณ คือ จำนวนผืนผ้าและชิ้นงานที่เพิ่มมากขึ้น จากเดิมปีละ 3,000 ผืน เป็น 7,086 ผืน อันมีนัยสำคัญว่า พี่น้องช่างทอผ้าและผู้ประกอบการผ้ามีความภูมิใจและเต็มใจในการสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยของบรรพบุรุษ ด้วยการน้อมนำแนวพระดำริทั้งเรื่องแบบลายผ้าและการเลือกใช้สีที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคตามข้อแนะนำที่พระองค์ท่านได้พระราชทานผ่านการทรงเป็นบรรณาธิการหนังสือ Thai Textiles Trend Book เล่มต่าง ๆ รวมถึงแนวพระดำริ Sustainable Fashion ทั้งการปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การนำทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งต้นไม้ใบหญ้า ดินแร่หิน น้ำทะเล มาเป็นเครื่องมือในการผลิตผลงานผ้า และไม่ลืมที่จะปลูกและดูแลรักษาขยายพันธุ์ให้เพิ่มมากขึ้น โดยมี “คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่พระองค์ท่านทรงโปรดให้ลงพื้นที่ไปส่งเสริมพัฒนาทักษะให้กับพี่น้องช่างทอผ้าและผู้ประกอบการ และทุกท่านก็ได้มาร่วมกันเป็นคณะกรรมการตัดสินในครั้งนี้ โดยเป็นที่น่าชื่นชมยินดียิ่ง เพราะท่านคณะกรรมการต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าผลงานที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้ “ตัดสินยากมาก” เพราะทุกชิ้นงานล้วนแต่สมบูรณ์ตามเกณฑ์และมีความสวยสดงดงาม มีความคิดสร้างสรรค์ที่สอดคล้องกับสมัยนิยมแทบทั้งสิ้น อันแสดงให้เห็นว่า พี่น้องประชาชนที่ได้รับองค์ความรู้จากคณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ได้นำไปพัฒนาฝีไม้ลายมือและใส่ใจในการถักทอจนเกิดเป็นผลงานที่มากคุณค่าและทำให้เห็นแล้วว่า ด้วยสายธารแห่งพระกรุณาธิคุณนี้ทำให้เราสามารถผ่าทางตันของวงการผ้าไทย เพื่อเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการนิยมชมชอบผ้าไทยในสังคมแฟชั่นระดับสากลได้อย่างสมบูรณ์ มีนัยสำคัญ คือ การทำแล้วเห็นผล ผลิตชิ้นงานแล้วเห็นผล เพราะทุกคนต่างก็มีเป้าหมายที่อยากให้ผลงานของตนเอง ของกลุ่มตนเองขายได้ อันสอดคล้องกับพระประสงค์และพระปณิธานอันแรงกล้าของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงแน่วแน่ในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการที่จะนำภูมิปัญญาไทยไปสู่การเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องคนไทยทั่วประเทศ และทรงไม่ได้เพิ่งเริ่มต้น แต่ทรงทำมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว และพวกเราข้าราชการทุกคนจะน้อมนำมาขับเคลื่อนอย่างไม่มีวันสิ้นสุด เพื่อทำให้เกิดความปลื้มปีติยินดี เกิดความภาคภูมิใจ และเกิดความอบอุ่นใจของพี่น้องผู้เกี่ยวข้องกับวงการผ้าไทย ให้พวกเขาได้มุ่งมั่นพัฒนาตนเองอย่างเต็มกำลัง เพื่อทำให้มีงาน มีอาชีพ มีรายได้ ยังผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมั่นคงและยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่อ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ชีวิตผ้าไทยอ่อนแอ ไม่เป็นที่นิยม โดยหากย้อนไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 ครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงลงพื้นที่ไปช่วยเหลือพสกนิกรที่ประสบอุทกภัยที่จังหวัดนครพนม ได้มีโอกาสช่วยเหลือกลุ่มทอผ้า นับตั้งแต่นั้นมาผ้าไทยเราก็กลับมามีชีวิต เกิดเป็นที่มาของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพ ที่ต่อมาเป็นมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ แสดงให้เห็นถึงวัฏจักรของผ้าไทยที่เคยเจริญรุ่งเรือง เห็นได้จากสมัย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีการสวมเสื้อคอลายพระราชทาน แต่เมื่อเวลาผ่านไปแฟชั่นผ้าไทยก็เริ่มจางหายไป จนมาถึงเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นดั่งหยาดน้ำทิพย์จากฟากฟ้าสุราลัย ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระกรณียกิจเพื่อรื้อฟื้นการส่งเสริมผ้าไทยให้กลับมาอีกครั้ง โดยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการผ้า ผู้ผลิตผ้า พัฒนาลวดลายผ้าใหม่ ๆ ให้มีความทันสมัย เหมาะสมกับการสวมใส่ในทุกวัยและทุกโอกาส แสดงให้เห็นการฟื้นคืนชีพของผ้าไทยไปสู่ความรุ่งเรือง ซึ่งปัจจัยสำคัญ (key success) คือ “คนที่ผลิตชิ้นงาน” โดยทรงกระตุ้นให้ฉุกคิดว่า “ไม่จำเป็นต้องทอเฉพาะลายที่ตกทอดจากบรรพบุรุษ” เพราะเราสามารถนำลวดลายเก่ามาผนวกกับลายสร้างสรรค์ใหม่ให้สวยงามเพิ่มขึ้นได้ จึงเป็นที่มาของการพระราชทานลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา ลายบาติกต่าง ๆ และล่าสุด คือ ลายดอกรักราชกัญญา ที่สามารถนำไปประยุกต์ผ้าทุกเทคนิคและหัตถกรรมทุกประเภท สอดคล้องกับโครงการพระราชทาน “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน ส่งเสริมและกระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัยและทุกโอกาส ดังนั้น ชีวิตของผู้ประกอบการผ้า และช่างทอผ้าจะดีขึ้น “ถ้าเราเลือกทำสิ่งที่ดี” เฉกเช่นที่พระองค์ท่านได้ทรงทำให้ดูเป็นแบบอย่าง และต้องมีการประกวดประขัน เพราะการแข่งขันจะกระตุ้นให้เกิดการเปรียบเทียบ เกิดความพยายามที่จะพัฒนาตนเอง เพื่อให้ได้รับการคัดเลือก

“ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้เข้าร่วมการประกวดทุกคน และขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด พัฒนาการจังหวัด นายอำเภอ ไปส่งเสริมกระบวนการผลิตผ้าไทยด้วยการน้อมนำพระดำริสู่การพัฒนาช่างทอผ้าและผู้ประกอบการอย่างเป็นรูปธรรมและครบวงจรตั้งแต่ “ต้นน้ำ” ด้วยการส่งเสริมการปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ใช้สีธรรมชาติ ถ้าทำไม่ได้ ให้จับคู่เกษตรกร และกลุ่ม OTOP กลุ่มต่าง ๆ เช่น ศูนย์วัฒนธรรมผ้าไหมนครชัยบุรินทร์ จ.นครราชสีมา เพื่อเป็นการสนับสนุนคนไทยด้วยกันที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง ทำทุกวิถีทางให้เกิดการเกื้อกูล แลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์กัน เม็ดเงินก็จะหมุนเวียนในหมู่พวกเราคนไทยด้วยกัน “กลางน้ำ” คือ การออกแบบลวดลายผ้า ต้องช่วยกันคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบที่คนนิยม และการออกแบบตัดเย็บ ที่ต้องมีดีไซน์ทันสมัย ไม่เชย เพื่อ “ปลายน้ำ” คือ ผู้บริโภค ทั้งเด็กสวมใส่ได้ ผู้ใหญ่สวมใส่ดี ในทุกโอกาส พัฒนาช่องทางการตลาด ทั้งการจัดทำ story telling packaging และ branding เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค นอกจากนี้ต้องทำให้ทุกหมู่บ้านเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ดังที่ทรงตรัสไว้ว่า “หน้าที่ของคนมหาดไทย คือ การทำให้ทุกหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านยั่งยืน” พี่น้องประชาชนเกิดการ “พึ่งพาตนเอง” ปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร ต้นไม้ให้สี มีการบริหารจัดการขยะ จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน มีความรัก ความสามัคคี มีการถ่ายทอดภูมิปัญญา มีการแบ่งกลุ่มบ้านเพื่อดูแลชีวิตความเป็นอยู่คนในชุมชน เพื่อท้ายที่สุดประชาชนทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะเศรษฐกิจดีและสังคมดี และต้องทำอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย ความสุขที่ยั่งยืนก็จะเกิดขึ้น” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า สมาคมแม่บ้านมหาดไทย น้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านได้พระราชทาน “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” จึงได้ริเริ่มโครงการและร่วมกับประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทุกจังหวัดจัด “การประกวดการออกแบบตัดเย็บชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อส่งเสริมให้ลูกหลานในท้องถิ่น ผู้มีหัวใจแห่งการเป็นศิลปิน ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ได้กล้าแสดงตัวออกมาว่ามีความชอบและปรารถนาที่อยากเป็นดีไซเนอร์ผู้รังสรรค์และต่อยอดจินตนาการลงบนผืนผ้าไทย อันจะทำให้เกิด “ศิลปินรุ่นใหม่” หรือ “Young Designer” ผู้ต่อยอดมรดกภูมิปัญญาผ้าไทยให้โดดเด่นเป็นที่ต้องตาต้องใจของผู้บริโภคและเป็นที่ต้องการของแฟชั่นนิยมระดับสากลต่อไป โดยในส่วนของภาคกลางจะจัดประกวดออกแบบตัดเย็บรอบคัดเลือกระดับภาคในวันพรุ่งนี้ (27 ส.ค. 2566) ที่โรงแรม ณ เวลา แห่งนี้

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ในปีนี้ กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม โดยมีผ้าและงานหัตถกรรมที่ส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 7,086 ผืน/ชิ้น แบ่งเป็นประเภทผ้า 6,288 ผืน และงานหัตถกรรม 798 ชิ้น ซึ่งภาคกลาง มีผลงาน 623 ผืน/ชิ้น ประเภทผ้า 472 ผืน และประเภทงานหัตถกรรม 151 ชิ้น ซึ่งในวันนี้ คณะกรรมการฯ ได้ทำการคัดเลือกเหลือ 113 ชิ้น เข้ารอบต่อไป ทั้งนี้ ภายหลังการประกวดในแต่ละภาคเสร็จสิ้น จะประกวดระดับภาค รอบคัดเลือก ในวันที่ 23 ก.ย. 66 และระดับประเทศ รอบรองชนะเลิศ (Semi Final) ในวันที่ 29 ก.ย. 66 ณ ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ กรุงเทพมหานคร คัดเลือกให้เหลือ 50 ผืน เพื่อเข้าประกวดระดับประเทศ รอบตัดสิน (Final) ต่อไป

#กระทรวงมหาดไทย
#บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#MOI
#หมู่บ้านยั่งยืน

กองสารนิเทศ สป.มท.

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link