สิ้นศิลปินมรดกอีสาน “ทองใส ทับถนน” มือดีดพิณชื่อดังของเมืองไทย ตำนานพิณสองสาย และ ตำนานพิณไฟฟ้าดวงแรกแห่งประเทศไทย

สิ้นศิลปินมรดกอีสาน “ทองใส ทับถนน” มือดีดพิณชื่อดังของเมืองไทย ตำนานพิณสองสาย และ ตำนานพิณไฟฟ้าดวงแรกแห่งประเทศไทย
วันนี้ ( 20 มี.ค.67 ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คุณพ่อทองใส ทับถนน นักดีดพิณชื่อดังของเมืองไทย เจ้าของรางวัลศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง ดนตรีพื้นบ้าน (พิณ) ปี พ.ศ. 2555 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ รับรางวัลและการเชิดชูเกียรติอื่นๆ อีกมากมาย เป็นนักดนตรีพิณ(ดีดพิณ)และนักแต่งเพลงที่มีชื่อเสียง และเป็นมือพิณอดีตสมาชิกวงดนตรีเพชรพิณทอง ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบที่บ้านพักของตัวเอง บ้านเลขที่ 163 หมู่ที่ 8 บ้านหนองกินเพล ต.หนองกินเพล อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เมื่อเวลา 04.53 น. ในวันนี้ ( 20 มี.ค.67 ) ด้วยวัย 77 ปี ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของคุณพ่อทองใส ทับถนน มือดีดพิณ ศิลปินมรดกอีสาน ตำนานเสียงพิณสะท้านโลก ตำนานพิณสองสาย และ ตำนานพิณไฟฟ้าดวงแรกแห่งประเทศไทย


สำหรับประวัติของนายทองใส ทับถนน ดังนี้ นายทองใส ทับถนน เกิดเมื่อวันที่ 14พ.ย.2490 ที่บ้านหนองกินเพล ตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของนายปิ่น ทับถนน กับนางหนู ทับถนน ผู้เป็นบิดานั้นมีความสามารถโดดเด่นด้านหมอลำพื้นบ้าน ทองใส ทับถนน เริ่มฝึกดีดพิณกับครูบุญ ตั้งแต่อายุ 4 ขวบ จนกระทั่งอายุได้ 8 ปี ได้เล่นพิณประกอบคณะหมอลำของนายปิ่น ทับถนน ผู้เป็นพ่อ จากนั้นจึงได้เรียนรู้ลายพิณโบราณกับครูบุญชู โนนแก้ว แห่งบ้านโนนสังข์ อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ศิลปินมือพิณพื้นบ้านตาพิการ เมื่อทองใสเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก็ได้ตระเวนเล่นดนตรีกับคณะหมอลำปิ่น ทับถนน ผู้เป็นพ่อเรื่อยมา


ต่อมา เมื่อทองใสอายุได้ 21 ปี ได้เข้าประจำการเป็นทหารเกณฑ์ที่กองพันทหารปืนใหญ่ ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี จึงได้มีโอกาสเป็นนักดนตรีวงดนตรีสากลประจำกองพันทหารปืนใหญ่ ได้นำพิณมาประยุกต์กับดนตรีสากลสมัยใหม่ และเรียนรู้การเล่นดนตรีตามแบบสากลนับแต่นั้นเป็นต้นมา ทองใสได้สมรสกับนางประมวล ทับถนน (สกุลเดิมจันไตร) มีบุตรธิดา 3 คน ได้แก่นางพิณทอง มณีเนตร นายสีแพร ทับถนน นางบุญสวย ทับถนน


หลังพ้นเกณฑ์ทหารในปี พ.ศ. 2513 ครูทองใส ทับถนน ได้กลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดและได้สมัครเข้าเป็นนักดนตรีคณะ ลูกทุ่งอีสาน ของนายนพดล ดวงพร ภายใต้ฉายา ทองใส หัวนาค ทั้งนี้เพราะมีพิณแกะสลักเป็นรูปพญานาคเป็นเครื่องดนตรีคู่กาย และในปี พ.ศ. 2514 นพดล ดวงพร ได้รับเชิญให้นำวงดนตรีลูกทุ่งอีสานประยุกต์ไปแสดงถวายหน้าพระที่ประทับที่เขื่อนอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ครูนพดล ดวงพร ร่วมกับครูทองใส ทับถนน ได้ถวายพิณแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงตรัสว่า “เพชรนี้เป็นเพชรน้ำเอก” ของเครื่องดนตรีอีสาน ยังความปลื้มปิติแก่ นพดล ดวงพร และชาวคณะเป็นอย่างมาก จึงได้เปลี่ยนชื่อวงดนตรี ลูกทุ่งอีสาน พิณประยุกต์ มาเป็นวง เพชรพิณทอง ซึ่งถือว่าเป็นนามมงคลอันเกิดจากการถวายพิณในครั้งนั้น ต่อมาทองใสได้นำเอาคอนแทรกไฟฟ้ามาประกอบกับพิณ และถือว่าเป็นพิณไฟฟ้าตัวแรกของเมืองไทย และได้เล่นดนตรีกับวงดนตรีเพชรพิณทอง ตลอดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 จนเพชรพิณทองได้ยุติวง


คุณวุฒิ และ รางวัล และการเชิดชูเกียรติ ดังนี้ พ.ศ. 2548 ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ดนตรีศึกษา) จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี พ.ศ. 2543 ได้รับการคัดเลือกให้เป็นศิลปินดีเด่นสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีอีสาน) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2544 ได้รับประกาศเกียรติคุณผู้ให้การสนับสนุนกิจกรรมวัฒนธรรมดีเด่น จากสำนักพัฒนาการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เขตการศึกษา 10 พ.ศ. 2545 ได้รับการคัดเลือกให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย ด้านศิลปกรรม (ดนตรีพื้นบ้าน-พิณอีสาน) รุ่นที่ 2 ปี พ.ศ. 2545
วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ชั้นเหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์ (ร.ง.ภ.) วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2547 ได้รับรางวัลสุดยอดศิลปินอีสาน ประเภทพิณอีสาน เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2555 ได้รับรางวัลศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง ดนตรีพื้นบ้าน (พิณ) พ.ศ. 2555 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2556 ได้รับรางวัลสุกรีเจริญสุข ผู้ทำดีความดีเพื่อสังคม สาขาการส่งเสริมดนตรี พ.ศ. 2558 ได้รับยกย่องเชิดชูเป็นมูนมังเมืองอุบลราชธานี สาขาศิลปะการแสดง พ.ศ. 2562 ได้รับรางวัลพระธาตุนาดูนทองคำ ประจำปี 2562 ประเภทบุคคลดีเด่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สาขาทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ ผลงานแสดงภาพยนตร์ YOUR MUSIC (2558) สำหรับผลงานการบันทึกเทป มีมากกว่า 50 ชุด อาทิ ชุดปู่ป๋าหลาน ชุดลำเพลินโบราณ ชุดแข่งเรือยาว ชุดบุญกัณฑ์หลอน ชุดแห่บุญผะเหวด เป็นต้น
ภาพ : ทองเบส ทับถนน
ข้อมูล ประวัติ : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
//////////////////////// ทีมข่าวจ.อุบลราชธานี / ข่าว.

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link