ผู้ประกันตนมีเฮ‼ เมื่อ สปสช.เพิ่มงบประมาณหลักประกันสุขภาพและสิทธิประโยชน์-การบริการ

ผู้ประกันตนมีเฮ‼ เมื่อ สปสช.เพิ่มงบประมาณหลักประกันสุขภาพและสิทธิประโยชน์-การบริการ

รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายสาธารณะและมาตรการต่างๆ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทุกมิติ และทุกช่วงวัยอย่างต่อเนื่อง มาตรการดูแลสุขภาพประชาชนตามกรอบไทยนิยมยั่งยืนของ ก.สาธารณสุข อาทิ โครงการยกระดับศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศ กว่า 1 ล้านคน ให้สามารถปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด, โครงการมหัศจรรย์ 1,000 วัน คือ การส่งเสริมพัฒนาการเด็กผ่านเครือข่ายชุมชนให้เติบโตสมวัย สมส่วน เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และเป็นพลเมืองที่ดีของบ้านเมือง, โครงการสร้างอาชีพสำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เช่นการเพิ่มพูนทักษะนวดแผนไทยเพื่อสุขภาพ การสร้างผู้ช่วยพยาบาล และโครงการติดตามผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด ผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบสุขภาพอำเภอ (พชอ.)

และเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้จัดทำดัชนีประสิทธิภาพระบบสุขภาพ ปี 61 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 27 ของโลก จาก 56 ประเทศ ดีขึ้นจากปี 60 ถึง 14 อันดับ นับว่าเป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดดมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยไทยอยู่ในอันดับที่ 9

องค์การอนามัยโลกได้ชื่นชมประเทศไทยเป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่สามารถช่วยเหลือประชาชน ได้อย่างยั่งยืน

พร้อมกันนี้รัฐบาลได้ยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ใช้สิทธิและเพิ่มเติมในเรื่องยา วัคซีน อุปกรณ์การแพทย์และการให้บริการต่างๆ เพิ่มเติม อาทิ

1⃣ การเปิดคลินิกพิเศษนอกเวลา สำหรับโรงพยาบาลที่มีความพร้อมเพื่อรองรับกลุ่มคนที่ประสงค์มารับบริการในช่วงเย็น และสมัครใจจ่ายค่าบริการบางส่วนเอง

2⃣ การเร่งรัดจัดทำชุดสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนทุกคนในทุกสิทธิประกันสุขภาพภาครัฐได้รับเหมือนกัน

3⃣ การสนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร้อยละ 100 โดย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ทั้งประชาชนทั่วไป ประชาชนในกลุ่มเปราะบาง กองทุนสุขภาพท้องถิ่น และการดูแลผู้สูงอายุ

4⃣ การเข้าถึงสิทธิและบริการของกลุ่มเปราะบาง ตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีปัญหาในการเข้าถึงบริการสุขภาพ อาทิ ประชาชนที่อยู่ตามพื้นที่ชายขอบ ผู้ต้องขัง พระสงฆ์ และผู้พิการ เป็นต้น

5⃣ การมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นและเร่งดำเนิน “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น” ในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

6⃣ การดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งที่ดำเนินการผ่านกลไก “กองทุนระบบการดูแลระยะยาว” ด้านสาธารณสุข สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง และส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีภาวะเจ็บป่วยมาก และค่าใช้จ่ายสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น

7⃣ การให้สิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ รักษาฟรีภายใน 72 ชั่วโมง (UCEP) สำหรับอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญา 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคมและกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งในอนาคตจะขยายไปยังกองทุนต่างๆ เพื่อให้เกิดความครอบคลุม ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ อันจะทำให้ผู้ป่วยฯ ได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการอย่างปลอดภัยโดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมง
การพัฒนาด้านสาธารณสุขของประเทศไทย เรื่องระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องทำให้ดีกว่าเดิมขยายให้ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม

และที่ประชุม ครม.วันที่ 12 ก.พ.62 ได้มีมติอนุมัติงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 63 ภายใต้วงเงิน 191,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 62 จำนวน 6,500 ล้านบาท ดังมีรายละเอียดดังนี้

1⃣ งบบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว จำนวน 1.74 แสนล้านบาท ครอบคลุมค่าใช้จ่ายหน่วยบริการในส่วนเงินเดือน ค่าตอบแทนบุคลากรและค่าบริการสาธารณสุขในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่สำหรับประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จำนวน 48.26 ล้านคน คิดเป็นอัตราเหมาจ่ายรายหัว 3,600 บาทต่อประชากร เพิ่มขึ้นจากปี 62 เป็นจำนวน 173 บาท/ประชากรผู้มีสิทธิ์

2⃣ งบบริการสาธารณสุขผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ จำนวน 3,596 ล้านบาท

3⃣ งบบริการสาธารณสุขผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จำนวน 9,405 ล้านบาท

4⃣ งบบริการบริการควบคุมป้องกันความรุนแรงโรคเรื้อรัง จำนวน 1,037 ล้านบาท

5⃣ งบค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,490 ล้านบาท

6⃣ งบค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงในชุมชน จำนวน 1,025 ล้านบาท

7⃣ งบค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว จำนวน 268 ล้านบาท

งบประมาณที่รัฐสนับสนุนเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 63 โดยเฉพาะงบเหมาจ่ายรายหัวจะนำมาพัฒนาระบบและเพิ่มการเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นให้กับประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีสิทธิประโยชน์ทั้งการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การรักษาผู้ป่วยนอก การรักษาผู้ป่วยใน ซึ่งในปี 62 จะมีสิทธิประโยชน์ ที่ผ่านการพิจารณาและเตรียมเดินหน้าในปีงบประมาณ 63 ได้แก่ การตรวจคัดกรองยีน HLA-B*1520 ก่อนเริ่มยา Carbamazepine เพื่อป้องกันการแพ้ยาชนิดรุนแรง, ปรับการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประชากร อายุ 50-70 ปีให้เกิดความสะดวกมากขึ้น, เพิ่มบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับอีก 12 รายการรวมเป็น 24 รายการ, เพิ่มการผ่าตัดผ่านกล้องและอุปกรณ์ทันสมัยเพื่อให้กลับบ้านได้เร็วขึ้น, การเพิ่มยารักษาโรคอัลไซเมอร์ มะเร็งไทรอยด์ โรคที่เกิดจากการทำลายเส้นประสาทและเพิ่มสูตรยาต้านไวรัสเอดส์ที่ดื้อยา, เพิ่มเครื่องตรวจติดตามค่าน้ำตาลในเลือดให้ผู้ป่วยเบาหวานเด็ก, เพิ่มวัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงในเด็ก และขยายสิทธิประโยชน์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด

ในกลุ่มผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ พร้อมปรับระบบการจัดการให้ประชาชนมีแพทย์ประจำครอบครัวใหม่, การดูแลผู้ป่วย ติดบ้านติดเตียงทุกกลุ่มอายุ โดยปี 63 ต้องให้ครอบคลุมถึงผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคมจากความร่วมมือหน่วยบริการในพื้นที่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการแพทย์แผนไทยมากขึ้น

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link