กทม.มุ่งมั่นลดปริมาณขยะอย่างยั่งยืน

กทม.มุ่งมั่นลดปริมาณขยะอย่างยั่งยืน
นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2563 กรุงเทพมหานครมีปริมาณมูลฝอยทั่วไป เฉลี่ย 9,520 ตัน/วัน ลดลง 1,044 ตัน/วัน หรือลดลงร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับปี 2562 (เฉลี่ย 10,564 ตัน/วัน) มีปริมาณมูลฝอยอันตรายจากชุมชน เฉลี่ย 3.34 ตัน/วัน ลดลง 0.03 ตัน/วัน หรือลดลงร้อยละ 0.89 เมื่อเทียบกับปี 2562 (เฉลี่ย 3.37 ตัน/วัน) และมีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อ เฉลี่ย 43.24 ตัน/วัน เพิ่มขึ้น 0.71 ตัน/วัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.67 เมื่อเทียบกับปี 2562 (เฉลี่ย 42.53 ตัน/วัน) ส่วนปริมาณขยะพลาสติก เฉลี่ย 2,022 ตัน/วัน ลดลง 94 ตัน/วัน หรือลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปี 2562 (เฉลี่ย 2,116 ตัน/วัน)

โดยในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกแรก (เดือนเมษายน 2563) ขยะพลาสติกมีปริมาณเฉลี่ย 3,432 ตัน/วัน หลังจากการประกาศขอความร่วมมือให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางและส่งเสริมให้มีการทำงานที่บ้าน ส่งผลให้ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มสูงขึ้นจากการสั่งซื้อสินค้าและอาหารผ่านระบบออนไลน์ กรุงเทพมหานครจึงได้รณรงค์ขอความร่วมมือประชาชนปรับตัวตามชีวิตวิถีใหม่ ด้วยการเน้นย้ำ ลด ละ เลิกการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ช้อน มีด ส้อม พลาสติก ถุงพลาสติก และเลือกใช้ภาชนะที่ใช้ซ้ำ หรือรีไซเคิลได้ ส่วนปริมาณขยะพลาสติกที่จัดเก็บได้ในช่วงการแพร่ระบาดระลอกใหม่ (เดือนมกราคม 2564) เฉลี่ย 1,667 ตัน/วัน

ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวทางการบริหารจัดการขยะของกรุงเทพมหานครในปี 2564 ได้รณรงค์ส่งเสริม สร้างการรับรู้ให้ทุกภาคส่วนคัดแยกและใช้ประโยชน์มูลฝอยที่แหล่งกำเนิดอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย มูลฝอยอินทรีย์ นำไปใช้เลี้ยงสัตว์ หมักทำปุ๋ย หรือทำน้ำหมักชีวภาพและน้ำยาอเนกประสงค์ มูลฝอยรีไซเคิล แยกขายเพื่อเป็นรายได้ มูลฝอยทั่วไป แยกทิ้งให้กับรถเก็บขนมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร ส่วนมูลฝอยอันตราย รณรงค์ส่งเสริมให้คัดแยกเป็นการเฉพาะ เพื่อนำไปกำจัดตามหลักสุขาภิบาล พร้อมจัดหาภาชนะรองรับมูลฝอยแยกประเภทและรถเก็บขนมูลฝอยที่มีช่องสำหรับใส่ขยะรีไซเคิลและขยะอันตราย แยกออกจากขยะทั่วไป รวมถึงพัฒนาระบบการเก็บรวบรวมไม่ให้มีมูลฝอยตกค้าง เพื่อความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ นอกจากนี้ จะได้ขยายเครือข่ายความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการลด คัดแยก และนำมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากยิ่งขึ้นต่อไป ส่วนหน่วยงานกรุงเทพมหานคร

ได้ดำเนินนโยบายการลด ละ เลิก ใช้โฟมและพลาสติกอย่างจริงจัง ได้แก่ การลดการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง การงดจ่ายถุงพลาสติกใส่ยาสำหรับผู้ป่วยที่มารับบริการในโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร การเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากถุงนมเป็นกล่องนมในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เป็นต้น อีกทั้งยังได้ร่วมกับ บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการ “วน” เพื่อลดขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนในพื้นที่กรุงเทพฯ และร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ดำเนินโครงการความร่วมมือภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastic) ในพื้นที่เขตคลองเตย และในปี 2564 จะขยายกลุ่มเป้าหมายการดำเนินงานในพื้นที่เขตคลองเตยและเขตอื่น ๆ ต่อไป

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link