“การเมืองวิถีใหม่” จังหวัดน่าน

“การเมืองวิถีใหม่”
จังหวัดน่าน
เมื่อ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๔ ได้มีการนัดหมายคอการเมืองผู้สนใจการเมืองวิถีใหม่จังหวัดน่านมาพบปะดื่มกาแฟยามเช้าสนทนาการบ้านการเมือง ณ สำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน เครือเจริญโภคภัณฑ์ จังหวัดน่าน โดยมี นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม และนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา พร้อมด้วย นายสุรพงษ์ พรมเท้า นายบรรหาร บุญเขต อนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน นางศิริวรรณ อินทวงค์ เลขานุการคณะทำงานการมีส่วนร่วมการเมืองวิถีใหม่ ได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคณะทำงานการมีส่วนร่วมการเมืองวิถีใหม่ของจังหวัดน่าน ประกอบด้วย นายถนอม ใหม่กันทะ นายอุดม จิตอารีย์ นายศรีศักดิ์ ขะระเขื่อน คณะทำงานการมีส่วนร่วมการเมืองวิถีใหม่ จังหวัดน่าน และนายสิงหเดช สุคนธวารินทร์ นายกสมาคมสื่อมวลชนภาคเหนือ นายอภิศักดิ์ พานทอง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสประจำจังหวัดน่านและ นายบัญชา โชติกำจร ผู้อำนวยการสำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชนเครือเจริญโภคภัณฑ์ จังหวัดน่าน ให้การต้อนรับ และร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยด้วย
ในการสนทนากันนั้น คุณหมอพลเดช ปิ่นประทีป ได้เล่าถึงความเป็นมาของการพัฒนาการเมืองวิถีใหม่ว่าเดิมที่เดียวท่านเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ได้ถูกเชิญจากท่านอาจารย์ประเวศ วะศรี ให้เข้ามาเป็นเลขาธิการมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา(LDI)โดยมีโจทย์ที่สำคัญคือการช่วยเหลือคนจนให้พ้นจากความยากจนหลังจากนั้นก็ได้ดำเนินการเรื่องนี้มาโดยตลอดไม่ว่าจะอยู่ในสถานะและตำแหน่งอะไรงานอะไรก็จะแทรกเรื่องการช่วยเหลือคนจนเสมอและเมื่อมาเป็นสมาชิกวุฒิสภาก็เลือกที่จะอยู่กรรมาธิการการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน
ท่านยังกล่าวอีกว่ารูปแบบการทำงานของวุฒิสภานั้นจะแบ่งการทำงานออกเป็น ๒๖ กรรมาธิการประจำวุฒิสภาและมีอีกหนึ่งกรรมาธิการพิเศษคือกรรมมาธิการติดตามเร่งรัดและเสนอแนะการปฏิรูปประเทศ ๑๑ ด้าน เพื่อการปฏิรูปประเทศ ในการที่มาจังหวัดน่านครั้งนี้ก็มาในนามกรรมาธิการติดตามเร่งรัดและเสนอแนะการปฏิรูปประเทศ ทั้งนี้จากการได้เร่งรัดและติดตามการปฏิรูปประเทศโดยผ่านการรายงานของหน่วยงานภาครัฐกระทรวงทบวงกรมทั้งหลายทำให้ทราบว่าการปฏิรูปที่ล่าช้าที่สุดในขณะนี้คือการปฏิรูปการเมืองที่ยังไม่ไปหน้ามาหลังทั้งๆที่เป็นเรื่องสำคัญที่สุดตามที่ทุกท่านทราบ

โดยเฉพาะการซื้อสิทธิ์ขายเสียงที่เริ่มจาก “โรคร้อยเอ็ด”เมื่อปีพ.ศ.๒๕๒๔ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งซ่อมของจังหวัดร้อยเอ็ดได้มีการใช้เงินทุ่มซื้อเสียงและขายฝันกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวครั้งแรกของประเทศไทย นักรัฐศาสตร์เรียกว่า “ธนาธิปไตย”แม้การปฏิรูปการเมืองในปี ๒๕๔๐จะมีการออกกฎกติการมาแก้ไขก็ไม่สามารถจัดการได้ปัจจุบันนี้ได้ลุกลามมากขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติเป็นค่านิยมของการเมืองไทยไปแล้ว คือเมื่อถึงการเลือกตั้งเมื่อไหร่ก็จะมีการใช้เงินกันอย่างสะพัดเรียกกันว่าถ้าไม่ใช้เงินซื้อเสียงก็อย่าหวังว่าจะได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ส่งผลให้เกิดธุรกิจการเมืองหรือมีการลงทุนของบรรดานักธุรกิจการเมืองในทุกระดับและเมื่อได้เข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วก็พยายามออกนโยบายที่เอื้อต่อธุรกิจของตนเองและพวกพ้องเพื่อถอนทุนคืนก่อให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นกันอย่างกว้างขวางทุกครั้งที่มีการปฏิวัติรัฐประหารก็จะใช้เหตุผลหนึ่งคือมีการทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลจนต้องทำการปฏิวัติรัฐประหารส่งผลให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยไม่พัฒนาก้าวหน้าไปไหน
การปฏิวัติรัฐประหารโดยคสช.เมื่อปีพ.ศ.๒๕๕๗ก็เหมือนกันที่ได้หยิบเอาเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นมาเป็นเหตุผลหลักในการเข้ามาทำรัฐประหารแล้วจะแก้ไขเรื่องนี้ตั้งแต่การตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)มาออกแบบยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ปีกำหนดแผนปฏิรูปประเทศ ๑๑ ด้านและได้จัดทำรัฐธรรมนูญ ปีพ.ศ.๒๕๖๐ที่เรียกกันว่ารัฐธรรมนูญปราบโกง จัดให้มีการเลือกตั้งทั้งสส.และสว.โดยสว.ชุดนี้มีบทบาทที่สำคัญตามบทเฉพาะกาลคือติดตามเร่งรัดเสนอแนะการปฏิรูปประเทศโดยเฉพาะการปฏิรูปการเมืองควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาความยากจนทั้งนี้ก็เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังยากจนอยู่จึงเปิดช่องให้กับนักธุรกิจการเมืองเข้ามาใช้เงินในการซื้อเสียงได้ แต่ก็ผ่านมาแล้วหลายปีรัฐบาลชุดนี้ก็ยังไม่สามารถดำเนินการและมีรายงานผลความก้าวหน้าในการปฏิรูปการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม

ในเรื่องนี้หากเรานำมาพิจารณาแล้วถามว่าใครคือคนที่จะต้องปฏิรูปในการปฏิรูปการเมืองให้เป็นรูปธรรมคำตอบคือนักการเมืองเองจะต้องเป็นคนริเริ่มและเริ่มต้นที่จะต้องปฏิรูปตนเองหรือที่เรียกว่าการ Self reform เพราะหากไม่ปฏิรูปตนเองแล้วก็อย่าได้หวังว่าใครจะเข้ามาฏิรูปตัวเราได้ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)หรือแม้แต่สถาบันพระปกกล้าเองที่มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาการเมืองโดยตรงก็ตามนั่นคือจุดเริ่มต้นของแนวคิด “การเมืองวิถีใหม่”
การเมืองวิถีใหม่คือการเริ่มต้นการปฏิรูปการเมืองจากวิถีเก่าที่มีความขัดแย้งแตกแยกทางสังคมและการเมืองมาอย่างยืดเยื้อเรื้อรัง มาเป็นการเมืองวิถีใหม่ที่มีความสมัครสมานสามัคคีและสร้างสรรค์โดยมิได้รังเกียจทั้งนักการเมืองรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่และไม่ได้แบ่งแยกคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่แต่ถ้ายังใช้แนวคิดการทำงานทางการเมืองแบบเก่าอยู่เราก็ไม่เรียกว่าเป็นการเมืองวิถีใหม่ ส่วนการเริ่มต้นนั้นมาคิดๆดูแล้วว่าใครน่าจะเป็นคนเริ่มต้นก่อนก็คงต้องเป็นฝ่ายการเมืองในที่นี้ก็คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร(ส.ส.)และสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)แต่ถ้าเราจะให้ส.ส.เป็นผู้เริ่มก่อนก็คงยาก
ดังนั้นก็ต้องเป็นส.ว.นี่แหละจะต้องเป็นผู้นำในการปฏิรูปการเมือง ครั้นมาถามถึงตนเองที่ทำงานด้านการพัฒนาสังคมมาโดยตลอดนั้นเราใช่นักการเมืองหรือไม่เมื่อคิดไปคิดมาคำตอบคือใช่เพราะเราได้ลาออกจากราชการเมื่อครั้งได้รับการเลือกให้มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)เมื่อปีพ.ศ.๒๕๕๐สถานะทางอาชีพก็เปลี่ยนไปจากอาชีพข้าราชการเป็นอาชีพนักการเมืองกล่าวโดยสรุปไม่ว่าจะเป็นทางพฤตินัยกับนิตินัยเราคือนักการเมืองร้อยเปอร์เซนต์แม้ว่าในสายตาคนทั่วไปจะมองว่าเราเป็นภาคสังคมก็ตามแถมเรายังอยู่ในกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมร่วมด้วยแล้วก็ยิ่งชัดเจนว่าเราจะต้องไปผู้ริเริ่มและเริ่มต้นก่อนจึงได้นำเรื่องนี้เข้าไปปรึกษาหารือในกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วม วุฒิสภา ก็ได้รับการตอบรับจากเพื่อนกรรมาธิการด้วยกันเป็นอย่างดีแต่เราจะต้องระมัดระวังให้ดีว่าจะไม่สื่อในทางที่จะมาตั้งพรรคการเมืองวิถีใหม่เสียเอง
ดังนั้นบทบาทของเราจึงต้องมีหน้าที่ถักทอเครือข่ายผู้ที่สนใจแนวทางการเมืองวิถีใหม่แล้วให้ความรู้ให้ทิศทางที่สำคัญคือการให้กำลังใจที่จะเดินไปข้างหน้าในการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองที่ก็ยังไม่ทราบว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ซึ่งอาจจะไม่ใช่ในรุ่นของเราแต่สิ่งนี้จะเป็นแนวทางให้คนรุ่นใหม่ได้ใช้เป็นแนวทางการทำงานการเมืองไทยเพราะถ้าไม่เริ่มวันนี้ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้เริ่มต้น
สิ่งที่สำคัญในการปฎิบัติงานขับเคลื่อนเครือข่ายการเมืองวิถีใหม่คือ
๑.การปรับทัศนคติของประชาชนที่มีต่อการเมืองวิถีใหม่เพราะขณะนี้ประชาชนจะติดกับวิธีคิดวิธีทำงานแบบการเมืองวิถีเก่าคือซื้อเสียงและสัญญาว่าจะให้ในลักษณะประชานิยมเพื่อหวังผลประโยชน์ตอบแทน
๒.เราจะไม่ขับเคลื่อนการเมืองวิถีใหม่ให้มาทดแทนการเมืองวิถีเก่าในลักษณะทำลายล้างกัน ด้วยความแค้น และความชิงชังแต่เราจะเคลื่อนด้วย ความคิดเชิงสร้างสรรค์สร้างมิตรภาพและสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ด้วยความรักความเมตตา
๓.เราแก้คนรุ่นเก่าไม่ได้ก็ต้องปล่อยและสนับสนุนคนรุ่นใหม่คนหนุ่มคนสาวที่กำลังจะเติบโตขึ้นมาทดแทนคนรุ่นเก่าที่จะหมดสภาพไปตามกาลเวลา
๔.การสร้างการเมืองวิถีใหม่เราต้องสร้างจากฐานล่างเหมือนกับการสร้างพระเจดีย์ที่จะต้องสร้างจากฐานพระเจดีย์ก่อนจึงสร้างยอด เราจึงต้องเริ่มต้นโดยการใช้จากฐานตำบลซึ่งมีอยู่แค่ ๗,๒๕๕ ตำบลเท่านั้นเองและเราก็มีโอกาสเปลี่ยนทุกๆ๔ปี
คุณหมอพลเดช ปิ่นประทีปได้กล่าวโดยสรุป

ด้านนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภาอีกท่านหนึ่งได้กล่าวเสริมว่า การพัฒนาการเมืองวิถีใหม่ให้สำเร็จได้นั้นอาจทำร่วมกันใน ๒ มิติคือ
๑.มิติส่วนบน หรือมิติเชิงระบบเชิงโครงสร้างส่วนบนที่จะใช้การออกกฎหมาย การปรับปรุงกฏหมาย แก้ไขกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมาย ที่อาจต้องใช้เทคนิคและทักษะความเชี่ยวทางด้านกฎหมายและระเบียบต่างๆซึ่งในส่วนนี้ทางอนุกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองจะเป็นผู้ดูแลและดำเนินการสนับสนุนช่วยเหลือให้เกิดประชาธิปไตยที่ดีโดยมีเป้าหมายให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนไม่ใช่เป็นของนายทุนพรรคแล้วนำมาเสริมให้กับประชาชนฐานล่างในการเปลี่ยนแปลง
๒.มิติส่วนล่าง หรือมิติเชิงพื้นที่ ที่ต้องใช้การถักทอเชื่อมประสานการทำงานของเครือข่ายผู้สนใจงานการเมืองทั้งในระดับท้องที่ ท้องถิ่น และระดับชาติ ตลอดถึงการทำงานเชิงประเด็น ชุมชนเข้มแข็ง ตามที่กล่าวมาซึ่งเรื่องนี้คุณหมอพลเดช ปิ่นประทีปท่านมีประสบการณ์ทำนาน๒๐กว่าปีมาแล้ว
โดยทั้งสองส่วนจะทำงานประสานความร่วมมือเดินไปด้วยกันเสริมแรงกันส่วนบนแก้โครงสร้างส่วนล่างแก้ความคิดประชาชน หากสองพลังประสานกันบ้านมืองจะเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน
นายอภิศักดิ์ พานทอง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสประจำจังหวัดน่าน ได้กล่าวว่าได้ทำข่าวเกี่ยวกับนักการเมืองและงานการเมืองมาก็มากไม่เคยได้ยินนักการเมืองมาพูดจากปากเองว่าจะพัฒนาและปฏิรูปตนเองให้เป็นนักการเมืองที่ดีอย่างวันนี้ที่มาได้ยินกับหูเห็นกับตา และถ้าหากทำได้อย่างนี้จริงๆจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นอย่างมากขอชื่นชม ขอสนับสนุนภารกิจและแนวความคิดนี้อย่างเต็มที่
นายถนอม ใหม่กันทะ คณะทำงานการมีส่วนร่วมการเมืองวิถีใหม่ ได้กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันนี้การเมืองมีการเปลี่ยนแปลงไปมากโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมทางการเมืองมากกว่าในอดีตดังนั้นหากนักการเมืองยังใช้วิธีการเล่นการเมืองแบบเดิมๆเด็กและเยาวชนอาจจะไม่สนับสนุนและอาจมีการต่อต้าน การที่สมาชิกวุฒิสภาได้เดินทางมาพื้นที่ครั้งนี้นั้นเป็นครั้งแรกก็คือสัญญานที่ดีในการพัฒนาการเมืองวิถีใหม่ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีเพราะโดยปกติชาวบ้านมักจะเห็นสมาชิกวุฒิสภาอยู่แต่ส่วนบนไม่ค่อยมารับฟังเสียงของชาวบ้านเหมือนอย่างครั้งนี้ เมื่อประชาชนได้ยินจากปากของสมาชิกวุฒิสภาเองฟังแล้วรู้สึกดีใจและมีกำลังใจ เชื่อว่าไม่เกิน ๑๐ ปีสังคมจะเปลี่ยน
นายพลเดช ปิ่นประทีป กล่าวสรุปในช่วงท้ายว่า ถ้าในยามที่บ้านเมืองเราเป็นปกติวุฒิสภาจะทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองกฎหมายจากสภาผู้แทนราษฎรหรือที่เรียกว่าวุฒิสภาคือสภาบน ส่วนการทำงานในพื้นที่นั้นจะเป็นบทบาทหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)ที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนและคอยรับเรื่องราวร้องเรียนร้องทุกข์ของประชาชนโดยตรง แต่ในสถานการณ์แบบนี้ส.ส.และส.ว.จะต้องสมัครสมานสามัคคีกันเพื่อบ้านเมือง ในอนาคตพรรคการเมืองใหญ่แต่ละพรรคจะแตกกันเป็นพรรคเล็กๆดังนั้นการเมืองวิถีใหม่จึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมในการเสนอตัวต่อประชาชน

สุรพงษ์ พรมเท้า
รายงาน

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link