ศรีสะเกษ !! รองโฆษกรัฐบาลมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ คุณธรรม ศรีอีสาน ประจำปี 2566

ศรีสะเกษ !! รองโฆษกรัฐบาลมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ คุณธรรม ศรีอีสาน ประจำปี 2566
เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2566 ที่ห้องภูผาม่าน โรงแรมขอนแก่นโฮเต็ล อ.เมือง จ.ขอนแก่น ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพสื่อท้องถิ่น เสวนาเรื่อง “ร่วมหาทางออกวิทยุชุมชน หลังปี 2567” ซึ่ง สมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุและสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน จัดขึ้น โดยมี พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ นายกสมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุและสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน คณะกรรมการ และเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุและสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน เข้าร่วมในโครงการพัฒนาศักยภาพสื่อท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ให้แก่ผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ได้ตระหนักรู้ ปรับเปลี่ยนทัศนคติ ปรับตัวและวางบทบาทการทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการป้องกันการแทรกแซงสื่อจากอำนาจรัฐและกลุ่มทุนต่อไป
ในโอกาสนี้ ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล ได้มอบรางวัลเชิดชูเกียรติและรับโล่รางวัลประกาศเกียรติคุณ “คุณธรรม ศรีอีสาน” ประจำปี 2566 ให้แด่พระครูโกศลสิกขกิจ ประธานมูลนิธิหลวงปู่สรวง อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ นายสำรวย เกษกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และนายจำรัส สวนจันทร์ ผอ.โครงการชลประทานศรีสะเกษ ซึ่งสมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน ได้พิจารณาคัดเลือกองค์กรและบุคคล ที่มีผลงานดีเด่นเป็นผู้ที่มีคุณธรรม ความประพฤติ ควรแก่การยกย่อง เพื่อมอบโล่ประกาศเกียรติ คุณ “คุณธรรม ศรีอีสาน” ประจำปี 2566 นี้

พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ นายกสมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุและสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน กล่าวว่า วิทยุภาคประชาชนหรือวิทยุชุมชนในประเทศไทย เริ่มก่อตัวขึ้นในระหว่างปี พ.ศ.2539-2540 ภายหลังจากที่ภาครัฐและภาคธุรกิจได้ครอบครองสื่ออย่างครบวงจร ข้อมูลข่าวสารจึงถูกปกปิด และสื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ตลอดจนการสร้างกระแสทางสังคม โฆษณาชวนเชื่อและโฆษณาขายสินค้า โดยไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีบทบาทในการทำงานวิทยุอย่างอิสระเท่ากับเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เมื่อมีกระแสการปฏิรูปการเมืองภายหลังเหตุการณ์ทางการเมืองในปีพ.ศ.2535 จึงทำให้เกิดแนวคิดการปฏิรูปสื่ออย่างจริงจัง นำไปสู่การกำหนดหลักการด้านสิทธิเสรีภาพด้านการสื่อสาร ในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 มาตรา 40 ดังนี้ การกำหนดให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ การกำหนดให้มีองค์กรอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม โดยการดำเนินการต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น และจัดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ และการกำหนดหลักประกันสิทธิเสรีภาพการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน โดยให้มีมาตรการป้องกันการควบรวม การครองสิทธิข้ามสื่อหรือการครอบงำสื่อมวลชน ต่อไป
ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ตนต้องขอขอบคุณ สื่อมวลชนทุกท่าน ทุกแขนง โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการวิทยุภาคประชาชน ที่ได้ดำเนินบทบาทหน้าที่ในการสะท้อนภาพเหตุการณ์ ความเคลื่อนไหวของสังคมไทยในมิติต่างๆ ด้วยความตั้งมั่นและซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพของตนเองมาโดยตลอด รวมไปถึงยังมีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคมในหลายๆเหตุการณ์ อันเกิดจากการทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งของสื่อมวลชนเอง สื่อมวลชน จึงอยู่ในฐานะตัวกลางที่ทำให้คนในสังคมเกิดความเข้าใจดีต่อกันและเกิดการรับรู้ข่าวสารเหตุการณ์ต่างๆ ส่งผลต่อการพัฒนาทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ สื่อสารมวลชน โดยเฉพาะสื่อวิทยุชุมชนซึ่งสามารถเข้าถึงประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ที่ห่างไกลจากเขตตัวเมืองจึงนับว่ามีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เป็นเครื่องมือสำคัญในการปลูกฝังภาวะความเป็นพลเมืองที่ดีในระบอบประชาธิปไตย ที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน และตนขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเข้ารับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ “คุณธรรม ศรีอีสาน” ในวันนี้ เพื่อเป็นการประกาศยกย่อง ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมและสู่สายตาสาธารณชน ในการเป็นแบบอย่างที่ดีในมิติด้านคุณธรรม และเป็นผู้มีพฤติกรรมด้านคุณธรรมควรค่าแก่การยกย่องในการทำหน้าที่และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคมไทย ขอให้ทุกท่านที่ได้รับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณครั้งนี้ จงเป็นพลังอันกล้าแกร่งที่จะร่วมกันผลักดันให้กับสังคมมีความรัก ความสามัคคี และน่าอยู่ยิ่งๆ ขึ้นไป


ข่าว/ภาพ … บุญทัน ธุศรีวรรณ ศรีสะเกษ

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link