“แก้ยากจนแบบพุ่งเป้า ด้วยภูมิปัญญาไทย”ข้อมูลเปรียบเทียบ..โดย หมอพลเดช ผลักดันแบบพุ่งเป้า

“แก้ยากจนแบบพุ่งเป้า ด้วยภูมิปัญญาไทย”ข้อมูลเปรียบเทียบ..โดย หมอพลเดช ผลักดันแบบพุ่งเป้า

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศจีนที่เพิ่งประกาศความสำเร็จในการขจัดความยากจนทั่วประเทศเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรต้องรวมพลังเพื่อแก้ปัญหาความยากจนให้กับกลุ่มประชากรในส่วนล่างสุดของสังคมและนำพาประเทศให้สามารถก้าวพ้นสภาวะที่ติด“กับดักรายได้ปานกลาง”มาอย่างยาวนาน
ด้วยการบูรณาการจุดแข็งและนำศักยภาพของทุกภาคส่วนมาประกอบเครื่องเพื่อเอาชนะสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวนี้ให้ได้ ภายในระยะเวลาที่ไม่นานจนเกินไป

💡ศักยภาพ 5 ประการ 💡

เมื่อเปรียบเทียบกับปัจจัยชุมชนเข้มแข็ง-เอาชนะความยากจน 25 ประการ ดังที่เคยวิเคราะห์ไว้ ประเทศไทยของเรามีศักยภาพที่สามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้ อย่างน้อย 5 ประการ ได้แก่
1).ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นสิ่งที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงคิดค้นและพระราชทานให้กับคนไทย จนได้รับการยกย่องเชิดชูไปทั่วโลก
2).กระบวนการและเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง ที่เกิดจากการดิ้นรนต่อสู้กับความยากลำบากในการดำรงชีวิต เรียนรู้และปรับตัวของบรรดาปราชญ์ชาวบ้านและผู้นำชุมชนท้องถิ่นจากฐานล่างที่มีอยู่ทั่วประเทศ
3).ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ อันเป็นทิศทาง นโยบายและเป้าหมายใหญ่ของประเทศซึ่งกำลังขับเคลื่อนไปอย่างเป็นขบวนและบูรณาการ
4).ระบบสวัสดิการแห่งรัฐและเครือข่ายสวัสดิการชุมชนที่หลากหลาย อันเป็นผลพวงจากงานพัฒนาสังคมทั้งของภาครัฐและการจัดการตนเองของชุมชนในระยะ50 ปีที่ผ่านมา
5).กระบวนการจิตอาสาและฐานทุนทางวัฒนธรรมอื่นๆ รวมทั้งคุณลักษณะนิสัยที่ดีงามของคนไทยที่คนทั่วโลกต่างยอมรับ


💡วัตถุประสงค์ 💡

“เอาชนะปัญหาความยากจนเรื้อรังของแผ่นดินภายใน 5 ปี ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จิตอาสาและภูมิปัญญาไทย เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9.”

💡แนวทางทั่วไป💡

ต้องสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐทุกกระทรวง เร่งขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในส่วนที่ตนรับผิดชอบอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงานอย่างสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
เพราะมีแต่การดำเนินเช่นนั้นจึงจะส่งผลสะเทือนอย่างสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม ระบบราชการและความมั่นคง รวมทั้งแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างบูรณาการ.
ที่นอกเหนือไปจากนั้น รัฐบาลควรมีนโยบายหรือโครงการพิเศษเฉพาะกิจ สำหรับการมุ่งเอาชนะความยากจนที่เรื้อรังในแผ่นดินให้สำเร็จในระยะเวลาที่ไม่นานจนเกินไป


💡โครงการพิเศษเฉพาะกิจ💡

ประกอบด้วย 2 แนวทาง ได้แก่

แนวทางที่ 1 พุ่งเป้าขจัดพื้นที่อำเภอยากจนและด้อยโอกาส ด้วยการแก้ปัญหาความยากจนในเชิงโครงสร้าง แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจากนโยบายการพัฒนา จัดการปัญหาความขัดแย้งเรื้อรังเรื่องที่ดินทำกินสำหรับอำเภอด้อยโอกาส และแก้ปัญหาภัยแล้งซ้ำซากในพื้นที่อำเภอเป้าหมาย ให้สำเร็จลุล่วงโดยพื้นฐาน.

พื้นที่เป้าหมาย

อำเภอยากจนและด้อยโอกาส ในพื้นที่ยากจนจำนวน 19 จังหวัด ได้แก่ 1.ปัตตานี 2.แม่ฮ่องสอน 3.ตาก 4.กาฬสินธุ์ 5.นราธิวาส 6.บุรีรัมย์ 7.นครพนม 8.ศรีสะเกษ 9.สระแก้ว 10.ชัยนาท 11.พัทลุง 12.น่าน 13.ยะลา 14.สระแก้ว 15.อ่างทอง 16.อำนาจเจริญ 17.กาญจนบุรี 18.มุกดาหาร 19.ชัยภูมิ


อำเภอที่มีพื้นที่แล้งซ้ำซากระดับรุนแรง ในภาคเหนือ 17 จังหวัด 135 อำเภอ และในภาคอีสาน 20 จังหวัด 165 อำเภอ พื้นที่รวมประมาณ 2.5 ล้านไร่

แนวทางที่ 2 พุ่งเป้านำพาครัวเรือนยากจนและผู้ยากลำบากให้หลุดพ้น ด้วยกระบวนการจับคู่พี่เลี้ยงจิตอาสาและโดยอาศัยฐานทุนทางสังคม-วัฒนธรรมในชุมชนท้องถิ่นเป็นปัจจัยหลัก งบประมาณรัฐเป็นปัจจัยเสริม

เป้าหมาย พุ่งเป้านำพาครัวเรือนยากจนและถูกทอดทิ้งในทุกจังหวัดทั่วประเทศก้าวพ้นความยากจน. มีหลักประกันในด้านปัจจัยสี่ พลังงานไฟฟ้าและน้ำสะอาด. เข้าถึงสวัสดิการรัฐและสวัสดิการชุมชน. มีกัลยาณมิตรและชุมชนเข้มแข็ง.

💡ระยะเวลาดำเนินการ💡
5 ปี (2564-2569)

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 15 เม.ย. 2564

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link