กทม.แนะแนวทางการใช้ชุดตรวจหาเชื้อ ATK – ขอความร่วมมือแยกทิ้งจากมูลฝอยทั่วไป

กทม.แนะแนวทางการใช้ชุดตรวจหาเชื้อ ATK – ขอความร่วมมือแยกทิ้งจากมูลฝอยทั่วไป

นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อนุญาตให้ประชาชนใช้ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเอง (Antigen Test Self-test Kits : ATK) ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ ขอแนะนำประชาชนให้ทำความเข้าใจถึงวิธีการใช้ชุดตรวจหาเชื้อ ATK ที่จะวางจำหน่ายในสัปดาห์หน้าในร้านขายยาที่มีเภสัชกรและมีการควบคุมการจำหน่าย ซึ่งจะต้องศึกษาคู่มือให้ชัดเจน โดยเบื้องต้นมีแนวทางการใช้ชุดตรวจหาเชื้อ ATK ดังนี้ (1) ชุดตรวจต้องผ่านการประเมินและขึ้นทะเบียนแล้วกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) (2) ตัวอย่างที่ใช้ตรวจเก็บจากโพรงหลังจมูก ช่องปากและลำคอ โพรงจมูก หรือน้ำลาย ตามที่ชุดตรวจกำหนด และ (3) ใช้เพื่อคัดกรองเบื้องต้นตามแนวทางที่แนะนำ สำหรับการปฏิบัติตนหลังผลการทดสอบให้ผลบวก ให้แจ้งหน่วยบริการใกล้บ้านที่กำหนดและแยกกักตัวเองจากผู้อื่น เพื่อลดการแพร่เชื้อโควิด-19 ตามกระบวนการแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) หรือการแยกกักในชุมชน (Community Isolation) หากมีอาการหายใจลำบาก ควรติดต่อขอเข้ารับการรักษากับสถานพยาบาล ซึ่งจะต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาในสถานพยาบาลต่อไป ส่วนกรณีผลการทดสอบให้ผลลบ หากเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง อาจอยู่ในระยะฟักตัว ควรแยกกักตัวและทดสอบซ้ำอีกครั้งภายหลัง 3 – 5 วัน หรือหากมีอาการของโรคโควิด-19 ควรทดสอบซ้ำทันที

นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดแนวทางจัดการชุดตรวจหาเชื้อ ATK ที่ใช้แล้ว เช่นเดียวกับการจัดการขยะหน้ากากอนามัยเนื่องจากถือเป็นขยะติดเชื้อ โดยประสานสำนักงานเขต สร้างความเข้าใจในการเก็บรวบรวม เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี พร้อมทั้งให้คำแนะนำและขอความร่วมมือประชาชนแยกทิ้งไม่ปะปนกับขยะทั่วไป เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเก็บขนขยะมูลฝอย สำหรับการทิ้งชุดตรวจหาเชื้อ ATK ที่ใช้แล้ว ขอให้แยกทิ้งจากขยะทั่วไป โดยราด หรือฉีดด้วยแอลกอฮอล์ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนนำใส่ถุงที่ปิดสนิท สามารถทิ้งรวมกับขยะหน้ากากอนามัยใช้แล้ว โดยมัดปิดปากถุงให้แน่น เขียน หรือติดหน้าถุงว่า “หน้ากากอนามัย” หรือ “ขยะติดเชื้อ” แยกทิ้งให้กับรถเก็บขนขยะมูลฝอยของสำนักงานเขต หรือทิ้งในถังรองรับหน้ากากอนามัยเฉพาะ (สีส้ม) ในพื้นที่สาธารณะที่มีกว่า 1,000 จุด โดยกรุงเทพมหานครจะจัดเก็บรวบรวมแล้วนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง ด้วยวิธีการเผาในเตาเผามูลฝอยติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขมต่อไป

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link