ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย มิจฉาชีพปลอมบัญชีไลน์อาจารย์หลอกลวงนักศึกษาให้กู้ยืมเงิน กยศ.

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย มิจฉาชีพปลอมบัญชีไลน์อาจารย์หลอกลวงนักศึกษาให้กู้ยืมเงิน กยศ.

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ได้รับรายงานจากการตรวจสอบสถิติการรับแจ้งความผ่านศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์พบว่า ในช่วงที่ผ่านมามีผู้เสียหายหลายรายซึ่งเป็นนักศึกษาสถาบันการศึกษาต่างๆ ถูกมิจฉาชีพปลอมบัญชีไลน์แอดมิน แอบอ้างเป็นครูอาจารย์หลอกลวงนักศึกษาที่อยู่ภายในกลุ่ม Line Open Chat แจ้งว่าให้ผู้กู้รายใหม่ปี 2566 มีเงินอยู่ในบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด จำนวน 310 บาท พร้อมกับให้แจ้งชื่อ-นามสกุล และสถานะแอปพลิเคชันของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ผ่านบัญชีไลน์ชื่อ “งานลงทะเบียน” ตามลิงก์ที่ส่งเข้ามาในกลุ่มดังกล่าว เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อทำตามขั้นตอนดังกล่าวแล้ว คนร้ายจะส่งลิงก์ให้ผู้เสียหายกดเพื่อยืนยันทำการโอนเงินผ่านบริษัทที่ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ อ้างว่าเพื่อเป็นการตรวจสอบบัญชี โดยจะแจ้งผลให้ผู้เสียหายทราบภายในเวลา 2 ชั่วโมง ต่อมาคนร้ายจะแจ้งผู้เสียหายว่าธุรกรรมดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์ จะส่งลิงก์ให้ผู้เสียหายกดเพื่อยืนยันทำการโอนเงินอีกครั้ง จำนวน 1,310 บาท ผู้เสียหายทราบว่าถูกหลอกลวงจึงมาแจ้งความให้ดำเนินคดีกับคนร้ายดังกล่าว
ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 1 – 31 ส.ค.66 มีประชาชนถูกหลอกลวงให้กู้เงินออนไลน์กว่า 1,578 เรื่อง หรือคิดเป็น 8.97% สูงเป็นลำดับที่ 3 ของจำนวนเรื่องการรับแจ้งความออนไลน์ และมีความเสียหายรวมกว่า 70.6 ล้านบาท
บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงประชาชนให้กู้เงินผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งถือว่าเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน
โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันมิจฉาชีพจะฉวยโอกาสปลอมบัญชีสื่อสังคมออนไลน์แอบอ้างเป็นบุคคลต่างๆ เพื่อหลอกลวงให้เหยื่อหลงเชื่อ แล้วก่อเหตุตามแผนประทุษกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในกลุ่ม Line Open Chat ซึ่งผู้ใช้หรือสมาชิกจะสามารถตั้งชื่อหรือใช้ภาพโปรไฟล์ใดก็ได้ มิจฉาชีพมักจะแอบอ้างเป็นผู้ที่ทำหน้าที่แอดมินของกลุ่ม ที่ผ่านมานอกจากการหลอกลวงในเรื่องเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แล้ว ยังคงพบว่ามิจฉาชีพมักส่งข้อความเข้าไปในกลุ่มแจ้งเตือนว่าจะลบกลุ่มเดิม ให้สมาชิกย้ายหรือติดตามไปยังกลุ่มใหม่ผ่านลิงก์ที่แนบมาให้ เมื่อเข้าไปในกลุ่มของมิจฉาชีพแล้วจะมีบัญชีอวตารหลายบัญชีทำหน้าที่พูดคุยหลอกลวงผู้เสียหายที่เข้ากลุ่มมา ในลักษณะว่าทำงานเสริมออนไลน์แล้วได้รับเงินจริง อย่างไรก็ตามการหลอกลวงให้กู้ยืมเงิน มิจฉาชีพมักแอบอ้างเป็นผู้ให้บริการเงินกู้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย หลอกลวงเหยื่อผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ผ่านข้อความสั้น (SMS) และผ่านการโทรศัพท์ไปยังประชาชน โฆษณาชวนเชื่อในลักษณะต่างๆ เพราะฉะนั้นประชาชนต้องพึงระวังการกู้เงินในลักษณะดังกล่าว ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ให้บริการได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องหรือไม่ หากจำเป็นต้องกู้เงินควรเลือกกู้เงินจากสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ และศึกษารายละเอียดของผู้ให้กู้ให้ดี รวมถึงมีสัญญาการกู้ที่ชัดเจนและเป็นธรรม เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบ หากพบเห็นความผิดปกติ หรือขอเสนอที่ดีเกินไปควรหลีกเลี่ยง อย่าหลงเชื่อว่าตัวเองนั้นโชคดี
จึงขอฝากประชาสัมพันธ์แนวทางป้องกันการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว ดังนี้
1.หากผู้ให้บริการเงินกู้รายใด แจ้งให้ผู้กู้โอนเงินก่อน ไม่ว่าจะเป็นค่าใด หรือเพื่อสิ่งใดก็ตาม ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ
2.ระวังบัญชี Line Open Chat แอดมินปลอม บัญชีแอดมินจริงจะมีไอคอนวงกลมมงกุฎขาวพื้นสีน้ำเงิน หรือมงกุฎน้ำเงินพื้นขาว อยู่ด้านล่างขวาของรูปโปรไฟล์
3.บัญชีแอดมินจริงจะอยู่เป็นชื่อลำดับแรกๆ ต่อจากชื่อบัญชีของเราเสมอ
4.ระวังบัญชีไลน์ทางการปลอม ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีสัญลักษณ์ยืนยันตัวตนโล่สีเขียว หรือโล่สีน้ำเงิน หรือไม่
5.ไม่ควรกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ที่ถูกส่งลิงก์แนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ
6.ไม่ควรหลงเชื่อเพียงเพราะมีการสร้างความน่าเชื่อ เช่น สอบถามข้อมูลส่วนตัว ให้ทำสัญญาเงินกู้ และขอเอกสารต่างๆ เช่น สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สมุดบัญชีเงินฝาก คล้ายกับการขอกู้ที่ธนาคารจริง
7.ช่วยกันแจ้งเตือนผู้อื่น และกดรายงานบัญชีสแปมที่น่าสงสัย โดยการกดรายงานที่รูปโปรไฟล์ของสมาชิกนั้นๆ แล้วกดปุ่ม รายงานปัญหา

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link