คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามสถานการณ์ด้านแรงงานและหารือแนวทางแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ด้านภาคเอกชนเสนอ แนวทางการผลิตแรงงาน ต้องการสอดรับกับความต้องการตลาด

คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามสถานการณ์ด้านแรงงานและหารือแนวทางแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ด้านภาคเอกชนเสนอ แนวทางการผลิตแรงงาน ต้องการสอดรับกับความต้องการตลาด

วันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน 2566 ที่ศาลากลาจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วย นายบันดาล สถิรชวาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมให้การต้อนรับ นายจรินทร์ จักกะพาก ประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน พร้อมด้วย นายจิรชัย มูลทองโร่ย รองประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน และอนุกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคณะทำงาน ในโอกาสลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามสถานการณ์ด้านแรงงาน รวมถึง หารือแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีนางอารีย์ การธิโร (การะทิโร) แรงงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและตัวแทนภาคเอกชน เข้าร่วมประชุม
ที่ประชุม ได้มีการรายงานถึงสถานการณ์ด้านแรงงานของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระบุว่า ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งกระทบต่อการท่องเที่ยว ทำให้แรงงานในภาคการท่องเที่ยวและบริการ มีการไหลออกจากพื้นที่ หรือเปลี่ยนอาชีพ เนื่องจากธุรกิจปิดตัวลงและแม้ว่าขณะนี้ การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งจากจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่แรงงานในภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะฝีมือ หรือแรงงานทักษะพิเศษ เช่น มัคคุเทศก์ เชฟ ครูฝึกสอนดำน้ำ ยังคงขาดแคลนอยู่มาก โดยมีสาเหตุหลักๆ ทั้งในด้านค่าจ้างค่าตอบแทน ที่ต่ำกว่าเมืองท่องเที่ยวอื่น ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของภาคเอกชนที่มองว่า ก่อนจะมีสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีรายได้รวมกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งมาจากธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ราว 1 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นเครื่องจักรด้านเศรษฐกิจตัวที่สำคัญ แต่ยังคงมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ขณะที่ด้านหน่วยงาน สถาบันการศึกษา ที่ผลิตแรงงานป้อนเข้าสู่ตลาด ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการใช้งาน
ประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน ระบุว่า หลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศ ประสบปัญหาในลักษณะนี้ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว ที่ต้องการแรงงานที่มีทักษะสูง และพูดภาษาต่างประเทศได้ ซึ่งผู้ผลิตแรงงาน อาชีวศึกษา มหาวิทยาลัย กับผู้ประกอบการ ภาคเอกชน จะต้องร่วมกันกำหนดทิศทางการผลิตแรงงาน ขณะที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ก็จะมีส่วนสำคัญ ในการยกระดับทักษะ ความสามารถ และการออกใบรับรอง ให้กับแรงงานที่ต้องการ อัพสกิล – รีสกิล เพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้น

หัวหน้าศูนย์ข่าว เรื่องจริงผ่านเลนส์ สุราษฎร์ธานี / รายงาน

คุณณรงค์ชัย ชลาลักษ์

ปชส.สฎ

Leave a Reply

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com
Share via
Copy link